ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิทยาศาสตร์ กำลังศึกษาหาข้อมูลอย่างขะมักเขม้น ในการหาความเชื่อมโยงว่า คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตอากาศที่สะอาด ซึ่งงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์วารสารทางการแพทย์เจเอเอมเอ (JAMA Network) ของสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆที่แสดงให้เห็นถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสกับมลพิษเป็นระยะเวลานาน และโอกาสเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้าหลังจากอายุ 64 ปีขึ้นไปแล้ว ซึ่งโรคซึมเศร้าโดยตัวของมันเองนั้นเป็นอาการป่วยที่อันตราย และเมื่อป่วยในวัยชรา จะทำให้ประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ลดน้อยลง รวมถึงปัญหาสุขภาพด้านกายภาพอื่นๆ และแม้กระทั่งเป็นสาเหตุในการเสียชีวิต โดยการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า โรคซึมเศร้าพบได้น้อยในกลุ่มคนวัยชรา เมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยกว่า

ดร. ซินเย่ ชิว (Xinye Qui) นักวิจัยจากคณะสิ่งแวดล้อมสาธารณสุข ของมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดและเป็นผู้เขียนร่วมในงานวิจัยชิ้นดังกล่าว กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงดังกล่าวเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดในงานวิจัย และสิ่งที่น่าประหลาดใจนั่นคือ เราค้นพบกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากที่มีอาการเริ่มแรกของโรคซึมเศร้าที่พบในงานวิจัย โดยนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลของประชากร 8.9 ล้านคน ที่มีประกันสุขภาพ และพบว่า 1.52 ล้านคนถูกวินิจฉัยว่ามีอาการซึมเศร้าในช่วงระยะเวลาการศึกษาในช่วง พ.ศ 2548-2559 แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการวิจัยพบว่า ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุมักไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยอาการดังกล่าว

ในการศึกษาวิจัยนั้น ดร. ชิว และเพื่อนร่วมวิจัยได้ทำการศึกษาลงในรายละเอียดของสถานที่อาศัยของผู้ป่วยและสร้างแบบจำลองเพื่อชี้ชัดการสัมผัสกับมลพิษในแต่ละเขตตลอดทั้งปี โดยตัวชี้วัดของมลพิษทางอากาศมีการศึกษาด้วยกันสามตัว ได้แก่ ฝุ่น PM2.5 ไนโตรเจนไดออกไซด์ และโอโซน โดยฝุ่นพิษนั้นมาจากการผสมของละอองทั้งของแข็งและของเหลวที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบของฝุ่น คราบสกปรก หรือควัน โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากสภาพการเผาไหม้เครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิล เช่น รถยนต์ ภาคการเกษตร การทำถนน การก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งการเกิดไฟป่า โดย PM 2.5 มีขนาดเท่ากับ 1   ใน 20 ส่วนของความกว้างขนาดเส้นผมของมนุษย์

ซึ่งแน่นอนมันสามารถเล็ดลอดจากระบบการป้องกันสิ่งแปลกปลอมข้าสู่ร่างกาย และแทนที่มันจะสามารถถูกกำจัดออกเมื่อหายใจออก มันกลับเข้าไปติดอยู่ในปอดหรือระบบเส้นเลือด ทำให้เกิดอาการระคายเคือง อักเสบในระบบทางเดินหายใจ การสัมผัสกับฝุ่นพิษ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และหัวใจวาย และยังสามารถก่อให้เกิดภาวะภูมิแพ้ที่รุนแรง และมีความสัมพันธ์กับภาวะโรคซึมเศร้าและความวิตกกังวล

ในขณะที่มลพิษจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เกี่ยวเนื่องกับการเผาไหม้เครื่องยนต์ในช่วงการจราจรติดขัด โดยก๊าซดังกล่าวจะถูกปลดปล่อยจากน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลและจากพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน โดยการสัมผัสก๊าซดังกล่าวจะก่อให้เกิดการอักเสบในระบบหายใจ เป็นสาเหตุของอาการไอ ลดการทำงานของปอด และเสียงหายใจคล้ายเสียงนกหวีด ส่วนโอโซนนั้น เป็นกลุ่มก๊าซที่พบมากที่สุดในควันที่มาจากรถยนต์ โรงงานไฟฟ้า และโรงกลั่น โดยมลพิษชนิดนี้ทำให้อาการโรคหอบหืดรุนแรงขึ้น และการศึกษาพบว่าการสัมผัสมลพิษเป็นระยะเวลานาน เพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเสียชีวิตจากระบบหายใจล้มเหลวในคนที่สัมผัสมลพิษสูง โดยสมาคมปอดของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า มันเป็นมลพิษที่มีการควบคุมน้อยที่สุดในอเมริกา แต่มีความอันตรายร้ายแรงมาก

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า คนที่อยู่อาศัยในเขตที่มีมลพิษสูงเป็นระยะเวลานานจะมีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า โดยมลพิษทั้งสามตัวนั้นมีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หรือแม้แต่สถานที่อยู่อาศัยนั้นจะมีมลพิษอยู่ในระดับต่ำก็ตาม นั่นหมายความว่าไม่มีเกณฑ์ค่าความปลอดภัยของมลพิษ ในอนาคตจำเป็นต้องกำจัดมลพิษเหล่านี้หรือลดปริมาณการปลดปล่อยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะมลพิษดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงในเกิดการภาวะซึมเศร้า เพราะมีความวิตกกังวลต่อสังคมอย่างต่อเนื่องและการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษในระยะเวลาที่ยาวนาน

ชิ้นงานวิจัยยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ยังคงเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งสาเหตุจากความเครียดทางสังคมและสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในกลุ่มประชากรชาติพันธุ์อื่นๆด้วย และด้วยวิธีการศึกษาวิจัยที่ใช้จำนวนประชากร

จึงยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าทำไมคนที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศถึงมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า แต่ยังมีงานวิจัยอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศนั้นก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบประสามส่วนกลาง ทำให้เซลล์ในร่างกายอักเสบ อีกทั้งงานวิจัยบางชิ้น แสดงให้เห็นว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุหนึ่งให้ร่างการผลิตสารอันตราย ซึ่งจะไปทำลายแนวกั้นเลือดและสมอง เครือข่ายเส้นเลือดและเนื้อเยื่อ ทำให้เซลล์ที่ป้องกันสมองมีระยะห่างประชิดกัน และนั่นอาจเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล

อีกทั้งภาวะสูงวัยทำให้เสียการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ทำให้ได้รับผลกระทบข้างเคียงจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งจำเป็นต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาความสัมพันธ์ และในปัจจุบันยังไม่มีความเข้าใจอย่างชัดเจนของสาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้า ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งที่งานวิจัยนี้เสนอว่า การเจ็บป่วยทางร่างกายที่มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ อาจทำให้สภาพจิตใจผู้ป่วยแย่ลง

เธอยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัยเป็นโรคในกลุ่มผู้สูงอายุที่นักวิจัยจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เช่นเดียวกับภาวะเจ็บป่วยจากโรคอัลไซเมอร์ และอาการป่วยทางระบบประสาทอื่นๆ ซึ่งนอกจากนี้เธอยังมีความกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ เนื่องจากปริมาณโอโซนจะสูงขึ้นเมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และโอโซนมีส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงภาวะซึมเศร้า ได้มากกว่าฝุ่นจิ๋ว และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งรัฐบาลควรออกกฎระเบียบควบคุมมลพิษอย่างเข้มข้น และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะทั้งเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกัน

 

Source: Long-term exposure to air pollution may raise risk of depression later in life, study says, CNN

Photo: CNN