ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ  เห็นชอบเร่งรัดฉีดวัคซีนพื้นฐาน หลังโควิดทำขาดช่วง เพิ่มวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูกอีก 1.2 ล้านคน และปรับสูตรวัคซีนไอพีวี ป้องกันโปลิโอชนิดฉีดเพิ่มเป็น 2 เข็ม หวังป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ ด้านผอ.สถาบันวัคซีนฯ เผยผ่านระเบียบกลไกจัดหาวัคซีนใช้ในอนาคต

 

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566

โดย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 3 เรื่อง คือ

1.ให้ความสำคัญรณรงค์เร่งรัดการฉีดวัคซีนพื้นฐาน ซึ่งช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด ทำให้การฉีดวัคซีนพื้นฐานลดลงในทุกพื้นที่ของประเทศไทย วันนี้จึงมีนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และหน่วยงานบริการนอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น กระทรวงอุดมศึกษาฯ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ฯลฯ

2. ยังเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนเอชพีวี(HPV) เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาขาดช่วงไป มีเด็กประมาณ 1.2 ล้านคนไม่ได้รับการฉีด ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นควรเพิ่มการฉีดอีก 1.2 ล้านคนเข้าไป ซึ่งเห็นชอบและมอบให้สปสช.ไปจัดหา เป็นการเพิ่มขึ้นของวัคซีนเอชพีวี ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่เตรียมไว้สำหรับเด็กป.5 ของปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้าน ซึ่งอยู่ม.2 จึงต้องเร่งดำเนินการ และ3. วัคซีนไอพีวี  หรือวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดเข็มที่ 2 เดิมฉีด 1 เข็ม ตอนนี้ขอปรับให้เป็นการฉีด 2 เข็ม เพื่อควบคุมโรคให้ดียิ่งขึ้น และป้องกันการกลายพันธุ์ เนื่องจากขณะนี้มีการระบาดในบางประเทศใกล้ไทย โดยเห็นชอบให้ คร. และสปสช.ไปดำเนินการจัดหา

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ  กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบระเบียบเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกลไกการจัดหาวัคซีนในภาวะฉุกเฉิน จากการถอดบทเรียนการจัดหาวัคซีนโควิด19 เป็นที่มาว่า ควรมีระเบียบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนและจัดหาวัคซีนโควิดอย่างครบถ้วน ระเบียบนี้จะทำให้เกิดกระบวนการจัดหาวัคซีนครบถ้วน มีคณะอนุกรรมการที่จะดูแลด้านวิชาการ การต่อรองต่างๆ เมื่อมีระเบียบก็จะทำให้กลไกจัดหาวัคซีนชัดเจนขึ้น ซึ่งจะรองรับอนาคตหากมีการระบาดของโรคระบาดร้ายแรง เมื่อมีระเบียบก็จะช่วยให้การดำเนินการต่างๆรวดเร็วขึ้น

“นอกจากนี้ มีการนำเสนอความก้าวหน้าวัคซีนโควิด19 ของประเทศไทย ทั้งองค์การเภสัชกรรม ได้เริ่มทดสอบในคนระยะที่ 3 ส่วนคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เริ่มทดสอบวัคซีนที่ผลิตได้เองในประเทศไทย โดยอยู่ระยะที่ 1 ส่วนใบยาก็ระยะที่ 1 เช่นเดียวกัน ทั้งหมดเห็นศักยภาพวัคซีนของประเทศ ทั้งวัคซีนโควิด19 และฐานต่อยอดในข้างหน้า ทั้งการจัดหาในภาวะเร่งด่วน การพึ่งพาตัวเองในศักยภาพที่เรามี จะทำให้เรามีความพร้อมมากขึ้น” นพ.นคร  กล่าว