ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข เสียใจเหตุเด็กวัย 1 ปี 6 เดือน จ.น่านเสียชีวิต พ่อแม่ร้องเหตุรับวัคซีนพื้นฐานคอตีบ บาดทะยักและไอกรน ชี้ขอให้รอผลการชันสูตรประกอบการสอบสอนโรคก่อน หากเกี่ยวข้องวัคซีนจริงพร้อมเยียวยาตามม.41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ แม้จะกระทบความเชื่อมั่นแต่ข้อมูลส่วนใหญ่ปลอดภัย ส่วนกรณีเด็กน้อยพบว่า ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว เพื่อความชัดเจนขอให้รอผลการสอบสวนโรคก่อน

 

เมื่อวันที่ 21 มกราคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็น “น้องใต้หล้า” หรือ ด.ช.ณฤทธร ทานิต  วัย 1 ปี 6 เดือน จ.น่าน ที่เสียชีวิตหลังรับวัคซีนพื้นฐานป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ผาตอ อ.ท่าวังผา โดยครอบครัวขอรอฟังผลการชันสูตรร่างและการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของลูกชาย ว่า ตนขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ทราบว่า ครอบครัวได้ส่งเรื่องชันสูตรร่างของน้องไปยังสถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ ดังนั้น จะต้องรอผลการชันสูตรเพื่อนำมาประกอบการสอบสวนโรคโดยกรมควบคุมโรค

 

เมื่อถามว่า รพ.สต.ผาตอ ได้รับการถ่ายโอนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ได้รับการถ่ายโอนไปยัง อบจ. แล้ว

 

ถามต่อว่าเมื่อถ่ายโอนไปยัง อบจ. แล้วหาก ผลชันสูตรออกมาว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนจริง จะมีการรับผิดชอบโดยหน่วยงานใด นพ.ชลน่านกล่าว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งหากมีการสอบสวนโรคมาแล้วพบว่าเกิดจากการรักษาพยาบาลจริง ก็จะเป็นการดูแลภายใต้กฎหมายมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนวิชาชีพก็จะว่ากันไปตามกฏหมายวิชาชีพ ทั้งนี้จะต้องรอผลการชันสูตรจากทางนิติวิทยาศาสตร์และการสอบสวนโรคให้ชัดเจนก่อน

กระทบความเชื่อมั่นบ้าง แต่มีคกก.พิจารณา ล่าสุดเตรียมปรับรูปแบบวัคซีนโบลิโอ

เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในเรื่องของการรับวัคซีนหรือไม่  ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงฯ ในเรื่องเด็กเกิดรอดแม่ปลอดภัย นพ.ชลน่านกล่าวว่า เมื่อมีเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วก็ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นบ้าง ซึ่งทางกระทรวงฯ เองจะต้องมีการปรับมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมา โดยขณะนี้คณะกรรมการสิทธิประโยชน์ ได้มีการพิจารณาวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก เช่น วัคซีนโปลิโอ ก็จะเปลี่ยนจากแบบหยดด้วยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนแรง มาเป็นแบบฉีดซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย

น้องรับวัคซีนพื้นฐานเป็นเข็มที่ 3 

“ผลการใช้วัคซีนส่วนใหญ่มีความปลอดภัย อย่างกรณีน้องใต้หล้าเป็นการฉีดในรอบ 1 ขวบ 6 เดือน ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว ซึ่งจะเกิดจากวัคซีนหรือไม่ก็ต้องเป็นการรอผลชันสูตร ผลเลือด ผลการตรวจสอบสารเคมีต่างๆ ก่อน ซึ่งเราจะสร้างความมั่นใจในเรื่องตัววัคซีน และการบริหารจัดการวัคซีน อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขยังแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กให้ครบ เพราะ หากเด็กไม่ได้รับวัคซีน แล้วมีการป่วยก็จะเกิดความอันตรายถึงแก่ชีวิตได้สูงมาก” นพ.ชลน่านกล่าว