ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.ชี้กรณีลูกจ้างสายสนับสนุนตัดพ้อค่าเสี่ยงภัยโควิดล่าช้า ไม่เหมือนค่าป่วยการ อสม. จริงๆทุกอย่างอยู่ระหว่างดำเนินการ ล่าสุดเงินเสี่ยงภัย 7 พันล้านเสนอสำนักงบประมาณแล้ว จ่อเข้าครม.อีก 1-2 นัด ส่วนบรรจุขรก.รอบสองอยู่ที่ ก.พ. ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข หารือสำนักงาน ก.พ.ทุกเดือน เล็งตั้ง “HR แซนด์บ็อกซ์” จัดพื้นที่เฉพาะบริหารบุคลากร หวังเป็นโมเดลแก้ปัญหาระยะยาว

 

จากกรณีลูกจ้างสายสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข ออกมาตัดพ้อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กรณีขับเคลื่อนจนคณะรัฐมนตรี เห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพิ่มขึ้นเป็น 2 พันบาทต่อเดือนต่อคน จากเดิม 1 พันบาท ขณะที่ค่าเสี่ยงภัยปฏิบัติงานโควิดกลับล่าช้า รวมไปถึงการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง และเรื่องสิทธิสวัสดิการอื่นๆนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อถูกสื่อมวลชนถามถึงกรณีดังกล่าว ว่า เรื่องนี้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ. และตัวแทนภาคีลูกจ้าง ซึ่งเป็นการประชุมคณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.)  ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยกระทรวงฯ มีการเพิ่มค่าโอทีทุกสายงานที่เกี่ยวข้อง ก็มีการดำเนินการแล้ว ส่วนข้อเรียกร้องบางข้อเกินอำนาจกระทรวงสาธารณสุข จึงมีมติในที่ประชุมว่าจะรวบรวมข้อมูลและเสนอให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป เช่น เงินเดือนลูกจ้างให้อยู่ในสำนักงบประมาณได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้เกินอำนาจต้องเสนอให้ส่วนเกี่ยวข้องพิจารณา

“ส่วนค่าเสี่ยงภัยโควิด ได้ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 7 พันกว่าล้านบาท โดยเสนอสำนักงบประมาณแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณา คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในเร็วๆนี้ ประมาณ 1 หรือ 2 นัดจากนี้ ซึ่งของเดิมค่าเสี่ยงภัยโควิดจบที่เดือนมิถุนายน แต่เราขยายถึงเดือนกันยายน และเกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข และนอกกระทรวงฯทั้งมหาวิทยาลัย และเอกชน” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีปัญหาบุคลากรที่ถูกเรียกร้องบ่อยๆ จะมีแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)  ทุกเดือน โดยประชุมไป 2 รอบแล้ว ซึ่งเห็นตรงกันว่า โดยกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน ฉบับปัจจุบัน มีรายละเอียดเยอะ และกระทรวงสาธารณสุขมีสายงานมากกว่า 60 สายงาน หากใช้กฎกติกาแบบเดิมจะบริหารได้ยากมาก จึงหารือกับ ก.พ.ว่า เราจะพยายามทำเป็น คณะทำงานที่เรียกว่า  HR Sandbox  Human Resources    คล้ายๆภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์  โดยจัดพื้นที่สักแห่ง และปรับกฎหมายให้ดำเนินการได้แบบแซนด์บ็อกซ์ เพื่อให้เป็นโมเดลในการดำเนินการขั้นต่อไป เพราะระเบียบปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรไม่ได้ เพราะ ก.พ. เป็นกฎรวมของประเทศ การจะไปแก้อะไรจะกระทบหน่วยงานอื่นได้ จึงจะทำโมเดลนี้และเชิญทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ทางกระทรวงฯ มีการติดตามเรื่องนี้อย่างไร ปลัด สธ. กล่าวว่า อยู่ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)  ซึ่งที่ขอมานั้น กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วย แต่หลายเรื่องเกินอำนาจ สธ. ดังนั้น จึงหารือกันหลายทาง และสุดท้ายสรุปว่า หากยึดกฎหมายเดิมคงทำอะไรไม่ได้ จะไปแก้กฎหมายหรือทำอะไรก็จะลำบาก ไปกระทบหน่วยงานอื่นๆได้ จึงคิดว่าควรทำเป็นแซนด์บ็อกซ์ หากได้ผลดีก็จะสามารถขยายหาทางออกได้

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ลูกจ้าง สธ.ตัดพ้อ! หลังครม.เห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการอสม. แต่เงินเสี่ยงภัยโควิดกลับล่าช้า

ติดตามช่องทางข่าวสารอีกช่องทางของ Hfocus ได้ที่เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Hfocus.org