ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอช่วยให้ คนไทยอายุยืน 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เผยข้อมูลผลการศึกษาวิจัยภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทยในปี 2562 พบว่า สาเหตุหนึ่งของการสูญเสียปีสุขภาวะของคนไทย คือ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสูญเสียปีที่มีสุขภาพดีมากถึง 298,000 ปี ดังนั้น การมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอช่วยให้ คนไทยอายุยืน 

ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs)

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 66 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอช่วยให้ คนไทยอายุยืน ว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและภาระทางด้านสุขภาพของประชากร ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดตัวชี้วัดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ ให้ลดลงเหลือร้อยละ 25 ภายในปี 2568 ภายใต้ 9 เป้าหมายหลัก คือ 1) ลดอัตราตายก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง 2) ลดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ 3) เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 4) ลดปริมาณการบริโภคเกลือและโซเดียม 5) ลดการสูบบุหรี่ 6) ลดอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูง 7) ประชาชนป่วยด้วยโรคเบาหวานและภาวะอ้วนลดลง 8) ประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้รับคำปรึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและได้รับยาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง และ 9) การมียาที่จำเป็นและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสำหรับรักษา และการให้บริการผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ ซึ่งกรมอนามัยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นที่ 3 โดยลดการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ร้อยละ 10 ภายใต้การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างโอกาสและสภาพแวดล้อมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก

การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะ

ด้าน ดร.ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าโครงการพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 พบว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ หรือการมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ เป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือปีที่มีสุขภาพดีของคนไทยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป จาก 5 โรคไม่ติดต่อ คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งเต้านม มากถึง 298,000 ปี โดยเป็นการสูญเสียปีที่มีสุขภาพดีในเพศชายจำนวน 159,000 ปี ส่วนเพศหญิง มีสูญเสียเป็นจำนวน 139,000 ปี ส่วนใหญ่เป็นการสูญเสียในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย จำนวน 13,200 คน แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 6,700 คน และเพศหญิงจำนวน 6,500 คน ติดตามผลการวิจัยภาระโรคเพิ่มเติมได้ที่ http://bodthai.net 

ทางด้าน นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า จากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการสูญเสียและภาระทางสุขภาพของกลุ่มโรคไม่ติดต่อจากการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ กรมอนามัยจึงแนะนำให้เพิ่มกิจกรรมทางกายให้เพียงพอ ซึ่งทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การลุกขึ้นยืนหรือขยับเคลื่อนไหวร่างกายจากการนั่งทำงานทุก 1-2 ชั่วโมง การใช้บันไดแทนลิฟต์ การใช้ขนส่งสาธารณะ และการออกกำลังกาย ควบคู่กับการกินอาหารตามหลักโภชนาการก็จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง