ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบแนวทางคุมน้ำเมา สงกรานต์ ปี66 มอบนายอำเภอเป็นแกนนำรณรงค์ป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนน เข้มเมาขับ ผิดซ้ำ จำคุก ย้อนกลับเอาผิดร้านขายเหล้าให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 1/2566 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ทั้งการเตรียมพร้อมก่อนช่วงสงกรานต์ ช่วงเทศกาล และหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยเพิ่มเป็นวาระของการประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด/กทม. จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากการดื่มในอำเภอเสี่ยงสูง โดยมีนายอำเภอเป็นแกนนำในนาม "นายอำเภอนักรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน" เข้มเมาขับ ผิดซ้ำ จำคุก ตามกฎหมายใหม่

พร้อมจัดกิจกรรมสงกรานต์ปลอดภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คัดกรอง ณ ด่านชุมชน ซึ่งตั้งแต่ดำเนินงานพบว่าช่วยลดตัวเลขอุบัติเหตุลง รวมถึงใช้ด่านครอบครัว บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด กรณีศาลสั่งคุมประพฤติในฐานเมาแล้วขับ ส่งต่อผู้กระทำผิดทุกรายที่ยินยอมเข้ารับการบำบัดรักษา รวมถึงมอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการสืบย้อนกลับเพื่อดำเนินคดีกับร้านค้าทีจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี

พม.รับยากเอาผิดร้านขายน้ำเมาให้เด็ก 

ด้าน นางอภิญญา ชมภูมาศ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ในส่วนของ พม.ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.หอพัก ร่วมขับเคลื่อนกับคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยทำงานกับจังหวัดเป็นภาคบูรณาการ ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันจะมีระบบการเช็กลิสต์ในประเด็นที่อยากให้จังหวัดดำเนินการ

 

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาสามารถใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เอาผิดร้านค้าที่ขายน้ำเมาให้เด็กและเยาวชนได้จริงหรือไม่ นางอภิญญากล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเอาผิดตามกฎหมายอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างน้อย และยอมรับว่ามีความยาก วันนี้ก็มีการพูดคุยกันถึงความยากในการไปเอากับร้านค้าที่จำหน่ายสุราให้แก่เด็ก ซึ่งตำรวจก็ได้เสนอแนวทางและกลไกในพื้นที่ เช่น ไปดูข้อมูลเดิมที่เป้นร้านค้าหรือพื้นที่ที่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เยาวชนและมีคดีที่เกิดขึ้น ไปดูตรงนั้นร่วมกันและไปป้องปรามมากกว่าดำเนินคดี เพราะการดำเนินคดีไปหายากมากและไม่ค่อยได้ข้อมูล และเน้นให้ความรู้ตระหนักถึงความสำคัญ

 

ถามต่อว่าปกติเมื่อพบเด็กเกิดอุบัติเหตุทางถนนแล้วพบว่าเมา มีการสืบย้อนรอยต้นตอเอาผิดร้านค้าอย่างไร นางอภิญญากล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีการสืบอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ข้อมูลกลับมา เนื่องจากมีปิดไม่บอกกันว่าไปเที่ยวทมี่ไหนหรือซื้อจากร้านไหน ก็เลยเป็นความยาก

ลุยย้อนกลับเอาผิดร้านค้าขายเหล้าให้เด็ก

ขณะที่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในประเด็นนี้เรามีการคุยกันว่า ถ้าเป็นเด็กนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาจให้อาจารย์ที่เป็นผู้ดูแลเด็กมาช่วยกันดูหรือไม่ ว่าหากมีการดำเนินการผิดกฎหมายในการเทสต์แบ็กกลับไปเผื่อจะได้ข้อมูลมากขึ้น หรือให้ผู้ที่ใกล้ชิดช่วยเจาะข้อมูลแทนเรา ซึ่งทาง ศธ.ก็ยินดีให้ความร่วมมือ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง