ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอแนะกินอาหารอย่างไรให้ปลอดภัย หลังข่าวเศร้าหนุ่มกินชาบูติดคอเสียชีวิต ย้ำ! อย่ากินไปคุยไป เสี่ยงอาหารติดคอ สำลักได้ ต้องเคี้ยวให้ละเอียดและนานพอ ทั้งผักและเนื้อไม่ควรรีบกลืน 

 

เผยวิธีกินอาหารลดเสี่ยงสำลักติดคอ

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีหนุ่ม กินชาบูติดคอช็อคหมดสติกลางวงและเสียชีวิตต่อมา ว่า การกินอาหารโดยไม่ให้ติดคอ สามารถทำได้โดย 

1.เวลากินไม่ควรพูดคุยกัน เนื่องจากการกินไปคุยไปมีโอกาสที่จะสำลักได้ 2.พยายามเคี้ยวให้ละเอียด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เนื่องจากเนื้อมีความเหนียว หากเราเคี้ยวไม่ละเอียดก็จะเป็นก้อน และทำให้เกิดการติดคอได้ หรือแม้กระทั่งผักบางชนิดมีความเหนียว หากเคี้ยวแล้วยังรู้สึกว่าเป็นเส้นใยเหนียวๆ อยู่ก็ยังไม่ควรกลืน  และ3.การกินปลาควรระมัดระวังและเช็กให้ดีว่า มีก้างหรือไม่ บางทีคิดว่าไม่มีก้าง แต่อาจจะมี เช่น ทอดมันปลาอาจจะมีก้างปลาติดมาด้วย ที่สำคัญบนโต๊ะอาหารควรจะมีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อมองและสังเกตอาหารได้  

 

"ปกติควรจะเคี้ยวให้ละเอียดก่อนและนานพอแล้วค่อยกลืน การเคี้ยวละเอียดน้ำลายจะมีส่วนในการคลุกเคล้าทำให้เกิดการลื่นของอาหารก็จะไม่เกิดการติดคอ อาหารที่เคี้ยวแล้วยังไม่ขาดก็ไม่ควรจะรีบกลืน เช่น หมูสามชั้นที่มีชั้นของหนังที่เคี้ยวอย่างไรก็ยังหนืดอยู่ อาจจะยังไม่ควรกลืน อาจจะคายออกก็จะช่วยลดการเกิดการติดคอได้" นพ.อรรถพลกล่าว

วิธีช่วยเมื่อเกิดอาการสำลักหรืออาหารติดคอ

นพ.อรรถพลกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการช่วยเหลือเมื่อเกิดอาการสำลักหรืออาหารติดคอ คือ ถ้าดูอาการแล้วไม่มีอาการเขียวแค่สำลักธรรมดา ไม่มีอาการติดคอจนถึงบริเวณหลอดลม อาจลองจิบน้ำดู แต่ถ้าหลุดลงไปอาจหายใจไม่ออกทันที จะมีอาการเขียว ก็ต้องใช้วิธีการทำหัตถการ คือ การเข้าข้างหลัง เอามือจ่อตรงบริเวณลิ้นปี่และดันเข้าไปแรงๆเพื่อให้แรงลมเข้าไป ก็จะช่วยดันอาหารให้หลุดออกมาได้

สำลักอาหารเกิดขึ้นได้ทุกวัย

"คนชอบเข้าใจว่า การสำลักอาหารมักเกิดในผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมของกล้ามเนื้อ อาจจะทำให้เคี้ยวไม่ค่อยดี การกลืนก็ไม่ค่อยดี แต่จริงๆ แล้วสามารถเกิดได้ในทุกวัย เนื่องจากการเคี้ยวไม่ละเอียด เคี้ยวไปคุยไปหัวเราะไป ก็จะหลุดลงไปได้ เวลากินอาหารไม่ควรจะคุยเล่นกันหัวเราะกัน ควรเคี้ยวให้เสร็จก่อน" นพ.อรรถพลกล่าว