ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.เผยประชาชนโทรสายด่วน 1669  สูงขึ้นล่าสุดเฉลี่ยปีละราว 6 ล้านครั้ง การเข้าถึงบริการของประชาชนในการออกปฏิบัติการฉุกเฉินปีละ 1.8 ล้านครั้ง ขณะที่ระบบบริการแพทย์ฉุกเฉินอยู่ระยะ 3 เดินหน้าเพิ่มศักยภาพ  

 

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม  ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง " ผนึกองค์กรระบบสุขภาพไทยเพื่อประชาชนไทยทุกคน" จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า  เราพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลผ่านมาถึง 3 ระยะแล้ว ระยะแรก คือภาคประชาชนร่วมกันทำตั้งแต่ปี 2538 ต่อมากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ ได้ตั้งศูนย์นเรนทร ที่โรงพยาบาลราชวิถีขึ้นมารองรับการแจ้งเหตุ และเปิดสายด่วน 1669 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก่อนจะขยายผลให้มีโรงพยาบาลเป็นเครือข่ายรับแจ้งเหตุทั่วประเทศ  

ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการดึงท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้แบ่งการแพทย์ฉุกเฉิน เป็น 3 ระดับ คือ 

1. ระดับพื้นฐาน เป็นส่วนรับแจ้งที่ไม่ต้องมีแพทย์ฉุกเฉิน และทีมพยาบาล 

2. หน่วยที่มีแพทย์ฉุกเฉินหรือหน่วยระดับสูงที่จะให้คำปรึกษาทางการแพทย์ 

3. หน่วยที่ให้คำปรึกษา มีแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรค 

ทั้งนี้ หน่วยที่ 3 จะอยู่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด และอนาคตหมายเลข 1669 จะหายไป แล้วมาใช้หมายเลข 191 ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรับแจ้งเหตุ ซึ่งหากเป็นเรื่องของตำรวจ ทางตำรวจจัดการ ถ้าไม่ใช่เรื่องของตำรวจ ท้องถิ่นจะเข้ามาจัดการ ไม่ว่าจะเป็นกู้ภัย บรรเทาสาธารณภัย ส่วนด้านการแพทย์ โรงพยาบาลจะกลับมาเป็นหน่วยคำแนะนำทางการแพทย์ฉุกเฉิน ส่วนบริการทางการแพทย์เดิมที่เคยคุ้นเคยกับชุดปฏิบัติการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (basic) ชุดปฏิบัติการกู้ชีพขั้นสูง (Advance) ก็จะมีการยกระดับเป็นหน่วยพื้นฐาน, ระดับสูง และระดับเฉพาะทาง 

 

“ตอนนี้มีคนโทร 1669 ปีละประมาณ 6 ล้านครั้ง ส่วนการโทรสายด่วน 191 ปีละประมาณ 5 ล้านครั้ง การเข้าถึงบริการของประชาชนในการออกปฏิบัติการฉุกเฉินปีละ 1.8 ล้านครั้ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ระยะเวลาการออกหน่วยไปช่วยเหลือนั้นลดลงเรื่อยๆ ที่น่ากลัวคือ อัตราการเสียชีวิตก่อนเจ้าหน้าที่ไปถึงเพิ่มขึ้น นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะจัดบริการอย่างไรให้เพียงพอกับความต้องการประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว