ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สพฉ. สั่งตรวจสอบ กรณีโรงพยาบาลไม่รับผู้ป่วยฉุกเฉินสิทธิราชการ ย้ำ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือตามกฏหมายและนโยบาย UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิ์ทุกที่

จากกรณีเหตุการณ์ ที่มีตำรวจนายหนึ่งประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าให้การช่วยเหลือ นำส่งโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง และให้ข้อมูลว่าทางโรงพยาบาลปฏิเสธให้การรักษาเนื่องจากเป็นสิทธิข้าราชการ ให้นำผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ไกลออกไป จนภายหลังผู้บาดเจ็บเสียชีวิต เหตุเกิดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น
 
นาวาเอก (พิเศษ) นายแพทย์พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในฐานะโฆษก สพฉ. กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวทาง สพฉ. ได้รับรายงานข้อมูลในเบื้องต้น และท่านเลขาธิการ สพฉ. เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมาได้สั่งการให้สำนักบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินพื้นที่ 3 ร่วมกับกลุ่มกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน ของ สพฉ. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม โดยถือเป็นเรื่องร้องเรียนที่ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย

โฆษก สพฉ. กล่าวต่อว่า ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง อำนาจหน้าที่ ขอบเขต ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของสถานพยาบาลในการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้ สถานพยาบาลควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติการให้ดําเนินการการปฏิบัติการฉุกเฉินต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นไปตามความจําเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมิให้นําสิทธิการประกัน การขึ้นทะเบียน สถานพยาบาล หรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใด ๆ มาเป็น เหตุปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินให้ไม่ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที เช่น การเรียกเก็บเงินทั้งหมด หรือบางส่วน หรือการลงนามรับสภาพหนี้ก่อนให้การปฏิบัติการฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน การให้ผู้ป่วยลงชื่อ สละสิทธิการรักษาใด ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ข้อกำหนดว่าด้วยสถานพยาบาล พ.ศ. 2554 ได้กำหนดว่า ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินได้  ให้สถานพยาบาลมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 โดยหากสถานพยาบาลใดฝ่าฝืน ให้ สพฉ. รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสนอ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 31 มาตรา 32 และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

"เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่"

ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในการคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉิน และได้ดำเนินโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่" เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชม. หรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย จากกรณีดังกล่าว สพฉ. จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน กรณีที่มีมูลความผิดตามกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินดังที่กล่าวไว้ข้างต้น สพฉ. จะได้เสนอคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป  ขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่าหากประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิการรักษาในกรณีฉุกเฉิน หรือพบเห็นการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติการ หน่วยปฏิบ้ติการหรือสถานพยาบาลที่ไม่เป็นมาตรฐานโปรดแจ้งมาที่ สพฉ. หมายเลข 028721669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง