ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมุนไพร แก้นอนกรน แท้จริงแล้วช่วยอะไร

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ให้ข้อมูลถึงกรณีคลิปสมุนไพร แก้นอนกรน ภายในคลิปจะมีสมุนไพร ประกอบด้วย ใบแมงลัก ขิง พริก หอมแดง โดยให้ใช้ใบแมงลัก 1 กำมือ ขิง 1 แง่ง พริก 4 เม็ด หอมแดง 5 หัว เป็นหลักต้มกับน้ำปริมาณ 1 ลิตร เป็นเวลา 5 นาที สรรพคุณเมื่อดื่มวันละ 1 แก้วก่อนนอนจะช่วย แก้อาการกรนได้ กรณีนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันแล้วว่า  ไม่มีข้อมูลตำรายานี้ทางการแพทย์แผนไทย

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเติมว่า ยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์อื่นที่สนับสนุนว่า สมุนไพรดังที่กล่าวอ้างมานั้น แก้นอนกรน ได้ สำหรับสรรพคุณที่แท้จริงของสมุนไพรเหล่านั้น จะช่วยทำให้การหายใจโล่งสะดวกมากยิ่งขึ้น ด้วยน้ำมันหอมระเหยในตัวสมุนไพรจะทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น เช่น ขิงและหอมแดง จะช่วยขยายหลอดลม 

แก้นอนกรน อย่างไรดี

เบื้องต้น หากอาการนอนกรนนั้นยังไม่รุนแรง ให้เริ่มดูแลสุขภาพร่างกายตั้งแต่วันนี้ด้วยการลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอตามวัย ลองปรับท่านอน ให้นอนศีรษะสูง หรือนอนตะแคง ลดการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกาย งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วย แก้นอนกรน ในเบื้องต้นได้

นอนกรน อันตรายไหม

การนอนกรนเป็นสัญญาณเตือนสุขภาพ กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก ระบุว่า อาจเสี่ยงเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) ซึ่งภาวะนี้เกิดจากการยุบตัวของทางเดินหายใจส่วนต้น ขณะหลับร่างกายจะเกิดภาวะขาดออกซิเจนเป็นพัก ๆ ทำให้การนอนหลับนั้นขาดตอน แน่นอนว่า มีผลต่อการทำงานของสมอง เช่น ง่วงนอนมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการขับรถ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอื่น เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอ้วนลงพุง

"ทุกคืนที่หลับต้องกรนมีวิธีไหน แก้นอนกรน ได้บ้าง กรนมากเสี่ยงโรคหรือไม่"

สัญญาณสุขภาพ การนอนกรน มากจนต้องพบแพทย์

ผู้ที่นอนกรนเป็นประจำ จะยังไม่รู้ตัวว่า นอนกรนมากไปหรือไม่ การจะ แก้นอนกรน ได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยสัญญาณเตือนการนอนกรนที่เริ่มเป็นอันตราย ต้องสังเกตดังนี้

  • สังเกตการหายใจ นอนกรนแล้วหายใจแรง เกิดเสียงดังสลับนิ่งเงียบ เกิดขึ้นได้เป็นพัก ๆ บางครั้งนอนแล้วหายใจเฮือก คล้ายการสำลักน้ำลาย
  • สังเกตการตื่นตอนเช้า ตื่นแล้วไม่สดชื่น ไม่สดใส แฝงด้วยอาการปวดศีรษะ
  • สังเกตช่วงเวลากลางวัน เมื่อตื่นแล้วไม่สดชื่น จะง่วงนอนมากจนผิดปกติในช่วงกลางวัน ส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน
  • สังเกตความจำ นอกจากความรู้สึกไม่สดชื่นแล้ว อาจมีอารมณ์ขึ้น หงุดหงิดง่าย ประกอบกับหลงลืมเป็นครั้งคราว เริ่มเกิดอาการขี้ลืม อาจพบอาการวิตกจริตหรือซึมเศร้าได้ 

การรักษา แก้นอนกรน สำหรับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea)

แพทย์จะทำการรักษา แก้นอนกรน ตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการนอนกรน มีทั้งวิธีผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัด รักษาร่วมกันหลายวิธีและติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการรักษา มีดังนี้

  1. การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure,CPAP)
  2. การใส่ทันตอุปกรณ์ พิจารณาให้การรักษาโดยทันตแพทย์ ให้ผลดีกับระดับอาการป่วยและความรุนแรงของโรคเล็กน้อยถึงปานกลาง
  3. การผ่าตัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยที่มีโครงสร้างทางเดินหายใจส่วนต้นผิดปกติ

การดูแลสุขภาพสำคัญอย่างมากเพื่อ แก้นอนกรน ในเบื้องต้น ควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที ประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่ควรรับประทานยานอนหลับเอง เพราะยาจะกดการหายใจได้ แต่เมื่อพบอาการอันตราย เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างละเอียดต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : นอนกรนเสียงดัง เสี่ยงหยุดหายใจ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง