ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ส่งหนังสือถึง “วิษณุ” ประธานคกก.การกระจายอำนาจฯ ขอทบทวนการถ่ายโอน รพ.สต.ให้แก่ อบจ. ที่ขอรับใหม่ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 14 จังหวัด เหตุการประเมินความพร้อมไม่สะท้อนความจริง  ขาดการมีส่วนร่วมประชาชน  ชี้ 5 ประเด็นปัญหาสำคัญ ด้านชมรมนักวิชาการฯ ชี้กระบวนการยื้อหรือไม่

 

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขตั้งคำถาม เป็นกระบวนการยื้อหรือไม่

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) กล่าวว่า  หลังจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.  โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดสธ. รักษาราชการแทนปลัดสธ. ลงนามในหนังสือถึงถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงกรณีขอให้ทบทวนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด  ทำให้เกิดคำถามว่า นี่เป็นหนึ่งในกระบวนการยื้อการถ่ายโอนของ สธ. หรือไม่

 

นายริซกี กล่าวอีกว่า  เมื่อพิจารณาอ่านข้อ 1 ถึงข้อ 5 มีแต่ปัญหา ของโรงพยาบาลที่ต้องรับคนไข้เพิ่ม ปัญหาของกระทรวงที่ไม่มีคนคีย์ข้อมูล ฯลฯ ซึ่งตนเห็นต่าง ดังนี้ 1.ข้อที่บอกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ขาดบุคลากรนั้น ต้องตั้งคำถามกลับ สธ.ว่า ตอนอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข คนก็ไม่เพียงพอเช่นกัน  และ 2.ข้อที่บอกว่า การถ่ายโอนทำให้การบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ ร่วมกันมีปัญหา    ตนมองว่า นั่นเป็นปัญหาของสธ.เองที่มีโปรแกรมคีย์ข้อมูล ตัวชี้วัดมากเกินไป คล้ายๆว่า  ประชาชนสุขภาพดี ถ้าคีย์ข้อมูลครบ  ในขณะที่ คน รพ.สต.มีน้อย แต่ต้องเสียเวลามาคีย์ข้อมูลหน้าคอมพิวเตอร์อีก แต่พอไปอยู่อบจ. กลับมีเวลาทำงานตามบทบาทหน้าที่ได้เต็มที่มากขึ้น ตัวชี้วัดน้อยลง น่าจะดีต่อประชาชนมากกว่าไม่ใช่หรือ

“เมื่อตอนที่บุคลากรยังอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีแต่ใช้งาน แต่ไม่ดูแลสิทธิ ความก้าวหน้า  คน เงิน ของ ให้กับ รพ.สต.เลย.. จึงควรให้สิทธิคน รพ.สต.ตัดสินใจ ว่า อยากอยู่กระทรวงเดิม หรืออยากถ่ายโอน ไม่ใช่มาจำกัดสิทธิ เสรีภาพเช่นนี้” นายริซกี กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีบางส่วนที่ถ่ายโอนไปแล้วอยากกลับคืน สธ. นายริซกี กล่าวว่า กรณคนที่อยากกลับก็ควรเปิดช่องให้กลับมาได้ภายใน 1 ปี   แต่คนที่อยากไปก็ไม่ควรยื้อ

"นายริซกี สาร๊ะ"

5 ประเด็นสำคัญ ต้นเหตุขอให้ทบทวนการถ่ายโอนรพ.สต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระใจความสำคัญของหนังสือ  ขอให้ทบทวนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด  ซึ่ง สธ.ส่งถึงประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นั้น มีดังนี้

 

ประเด็นที่ 1

 

หลังจากการถ่ายโอนสถานีอนามัยฯและรพ.สต.ให้อบจ. พบว่า มีผลกระทบต่อการจัดบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น กรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ต้องรับยาเป็นประจำภายใต้การดูแลของแพทย์ไม่สามารถไปรับยาต่อเนื่องได้ที่สถานอนามัยฯ หรือ รพ.สต. ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน หรือกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องทำแผลฉีดยา พบว่า ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่รพ.ชุมชน เพิ่มขึ้น หลังการถ่ายโอน ร้อยละ 12.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

 

ประเด็นที่ 2

การถ่ายโอนบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และรพ.สต.ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565  เป็นความสมัครใจของบุคลากรสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งควรเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต. ไม่ใช่บุคลากรที่ปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่น ทำให้เกิดผลกระทบต่อภารกิจการให้บริการ สอดคล้องกับความเห็นของผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กับหลักการดังกล่าว นอกจากนี้ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้วยังขาดบุคลากรในการให้บริการ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชน ทำให้ต้องเป็นภาระเพิ่มสำหรับประชาชนและหน่วยบริการอื่น

ประเด็นที่ 3

การบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพร่วมกัน และระบบการรายงานข้อมูลสุขภาพเพื่อนำไปเป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติการจัดทำระบบการรายงาน และการส่งมอบข้อมูลระหว่างกันนั้น สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯและ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยังไม่มีแนวทางการจัดการข้อมูลดังกล่าว ตลอดจนองค์การบริหารส่วนจังหวัดยังไม่มีการเตรียมค่าใช้จ่ายการจัดการระบบข้อมูลตลอดทั้งการเตรียมการคุ้มครอง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ขอรับงบประมาณงบดำเนินการค่าสาธารณูปโภค รายการค่าบริการสื่อสารและโทรคมนาคม หากองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่มีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บข้อมูลการบริการ การเชื่อมโยงข้อมูล และการใช้ข้อมูลให้เป็นไปตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562  ซึ่งส่งผลต่อความรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวในวันข้างหน้าได้

 

ประเด็นที่ 4

หลังจากการถ่ายโอนถึงแม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน และมีหน้าที่จัดบริการสาธารณสุขและอนามัยชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนจากกรณีสถานการณ์ของโรคระบาด ต้องใช้กลไกรัฐส่วนกลางเป็นหลักในการกำหนดนโยบาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สนับสนุนและดำเนินงานตามคำสั่ง/มาตรการ/แนวทางของรัฐส่วนกลาง ภายใต้การควบคุมของการบริหารราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและปัญหาในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากปัญหากฎระเบียบและการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน อาจเกิดความเสี่ยงต่อการปฏิบัติตามนโยบายทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญ เช่น การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ซึ่งพบว่ามีการระบาดในหลายพื้นที่ของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ฯ และรพ.สต.ที่มีการถ่ายโอน

ประเด็นที่ 5

กรณีนโยบายรัฐบาลส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่สำคัญ และต้องดำเนินการในทุกพื้นที่ พบว่าหลังการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และรพ.สต. มีขั้นตอนการมอบหมายงานให้ปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการและเสี่ยงต่อผลการปฏิบัติงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน เช่น กรณีการดูแลกลุ่มวัยเด็ก/นักเรียน ที่ต้องได้รับโปรแกรมการให้ภูมิคุ้มกันโรค (วัคซีน) และโปรแกรมการตรวจคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ซึ่งต้องดำเนินการให้ทันทวงทีและต้องเป็นไปตามกำหนด พบว่าภายหลังการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และรพ.สต.ในหลายพื้นที่มีผลการดำเนินงานที่ต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้กลุ่มวัยเด็ก/นักเรียน ไม่ได้รับบริการที่จำเป็นดังกล่าว

นอกจากนี้ การถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และรพ.สต.ให้แก่ อบจ. ที่ขอรับใหม่เพิ่มเติมในปีงบประมาณพ.ศ.2567 จำนวน14 จังหวัดนั้น จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า การประเมินความพร้อมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อรองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และรพ.สต. ไม่สะท้อนความพร้อมที่เป็นจริง และขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เห็นสมควรให้คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทบทวนการถ่ายโอนฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 โดยขอเสนอเป็นวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งถัดไป เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

“เลอพงศ์” ยันอาจมีบ้างบุคลากรถ่ายโอนไปแล้วขอย้ายกลับ แต่ไม่เกิน 5% ด้าน ปธ.ชมรม รพ.สต. ชี้ต้องเร่งแก้ปัญหาด่วน

- สธ. ยันเดินหน้าถ่ายโอน รพ.สต. ตามกฎหมาย ย้ำ! ข้อมูลพบบุคลากรขอย้ายกลับ มาจากการสำรวจวิชาการจริง!  

 

ติดตามช่องทางข่าวสารอีกช่องทางของ Hfocus ได้ที่เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Hfocus.org