ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กองกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ออกหนังสือด่วน! ถึงกรมทุกกรม ทุกหน่วยงานในสังกัด สธ. และรพ.ทุกระดับ ถึงแนวทางปฏิบัติและข้อควรระวัง หลังยุบสภา ในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง  รวมไปถึงการอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณ ขณะที่ข้อกังวลเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด เมื่ออยู่ในงบกลาง อาจต้องเสนอกกต.พิจารณา

 

หนังสือด่วน! ถึงกรมทุกกรม ทุกหน่วยงานในสังกัด สธ.

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. กองกฎหมาย กระทรวงสาธารณสุข ออกหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ สธ.0202.13/ว 190  ลงนามวันที่ 24 มี.ค. 2566 ส่งถึงกรมทุกกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1-13 สำนักงานสาธาณรสุขจังหวัดทุกจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน กอง กลุ่ม ศูนย์ สถาบัน และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

โดยสาระสำคัญคือ ในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือสำนักเลขาคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร. 0503/ว125 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2566 และหนังสือด่วนที่สุด ที่นร.0503/ว 61 ลงวันที่ 7 ก.พ. 2562

แนวทางปฏิบัติและข้อควรระวัง

ทั้งนี้ กิจกรรมที่สามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่ปกติ เช่น การจัดประชุมสัมมนา การจัดงาน กิจกรรม การประกวดแข่งขันต่างๆ การจัดงานเทศกาลตามประเพณี ส่วนที่ห้ามทำคือ กิจกรรมใดๆ ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมีชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง การจัดทำแผ่นป้ายต้นรับ หรือป้ายขอบคุณพรรคการเมือง รัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สิ่งที่ควรปฏิบัติ และไม่ควรปฏิบัติ

สิ่งที่ควรปฏิบัติ และสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ  ดังนี้

-ให้ความร่วมมือช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

-วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

-การแต่งตั้ง (โยกย้าย) ให้พิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง

-การสนับสนุนสถานที่เพื่อใช้สถานที่ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

-ให้มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัครด้านความปลอดภัยเพื่อการคุ้มครองประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้รับความปลอดภัย

-สนับสนุนเกี่ยวกับสถานที่ปิดประกาศ และที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เพียงพอและเท่าเทียมกัน

-ปฏิทินปีใหม่ ที่มีรูป และหรือผลงานของรัฐมนตรี ให้จัดทำเผยแพร์ในนามของหน่วยงานเท่านั้นและต้องระมัดระวัง ไม่ให้มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงเลือกตั้งให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือพรรคการเมือง  

-การจัดทำแผ่นป้ายต้อนรับการมาตรวจพื้นที่ของรัฐมนตรี ที่มาปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ให้พึงระมัดระวัง ไม่ให้เข้าข่าย เป็นการจัดทำป้ายหาเสียงเลือกตั้ง

-หากผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะเข้ามาหาเสียงเลือกตั้งในส่วนราชการ สามารถทำได้โดยต้องได้รับอนุญาต จากเจ้าของพื้นที่ก่อนเข้าดำเนินการหาเสียง

 

งบเสี่ยงภัยโควิดอาจต้องเสนอ กกต.พิจารณาช่วงรัฐบาลรักษาการ

นอกจากนี้ ในหนังสือยังระบุถึงเรื่อง การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น (มาตรา 169(3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติ ให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ซึ่งแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนดำเนินการตามมาตรา 169(3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดรายละเอียด อาทิ จะต้องทำเท่าที่จำเป็นและต้องเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

หรือหากมีการเห็นชอบจาก กกต. ให้สำนักงบประมาณรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเหตุผลและความจำเป็นในการขอใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณรายจ่ายดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

รวมทั้งให้สำนักเลขาธิการครม. สำนักงบประมาณ หน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ความร่วมมือส่งผู้แทนไปชี้แจง หรือส่งข้อมูลเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณา ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ

กระทรวงสาธารณสุขควรให้ข้อมูลที่ชัดเจน

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า กรณีเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด เมื่อเป็นงบประมาณกลาง จากข้อปฏิบัติดังกล่าว จึงควรต้องเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน จากนั้นสำนักงบประมาณก็ควรรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเหตุผล และความจำเป็นในการขอใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว เสนอต่อ กกต. รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องออกมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขที่ยังรอค่าเสี่ยงภัยได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป

ข่าวเกี่ยวข้อง : ค่าเสี่ยงภัยโควิด กว่า 7 พันล้านยังไร้มติ ครม. หวั่น! ยุบสภาแล้วอาจติดเงื่อนไขพิจารณางบฯ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org