ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เขต 4 สระบุรี จับมือ ‘หน่วยล้างไตผ่านทางช่องท้อง’ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ – คณะแพทยศาสตร์ มศว. จัดทำโครงการ Comfort PD Care ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง นำร่อง จ.ปทุมธานี-สระบุรี คาดครบ 1 ปีประเมินผล ก่อนสรุปเป็นแนวทางดูแลผู้ป่วยทุกสิทธิทั่วประเทศ

นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ สปสช. เขต 4 สระบุรี อันประกอบด้วย จ.สระบุรี จ.ลพบุรี จ.นครนายก    จ.พระนครศรีอยุธยา จ.อ่างทอง จ.สิงห์บุรี และ จ.ปทุมธานี มีผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และต้องได้รับการล้างไตผ่านช่องท้อง (Peritoneal Dialysis : PD) รวมถึงการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมแล้วกว่า 5,000 ราย 

การล้างไตผ่านช่องท้อง

นพ.ชุติเดช กล่าวว่า การล้างไตผ่านช่องท้องจะเป็นหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสม และผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยผู้ใช้สิทธิบัตรทองนั้น สปสช.จะสนับสนุนน้ำยาล้างไตและจัดส่งผ่านทางไปรษณีย์ให้ถึงบ้าน แต่ก็ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายจะสามารถใช้วิธีนี้ได้ เช่นเดียวกับการฟอกเลือดด้วยไตเทียมซึ่งจะมีความเหมาะสมกับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

ทั้งนี้แบ่งเป็น 1. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถฟอกเลือดด้วยเครื่องได้ เนื่องจากความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะโรคหัวใจ-หลอดเลือดหัวใจขาดเลือด จะต้องล้างไตผ่านช่องท้อง 2. ผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังแล้วมีโรคร่วมหลายอย่าง (Comorbidities) จะไม่เหมาะกับการฟอกเลือด ควรล้างไตผ่านช่องท้อง 3. ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือมีอุปสรรคในการเดินทาง เหมาะสมกับการล้างไตผ่านช่องท้อง 4. กลุ่มที่อายุน้อย อาจมีการวางแผนเพื่อปลูกถ่ายไต

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้องนั้น พบว่ายังมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง ฉะนั้นเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง ทาง สปสช. เขต 4 สระบุรี จึงได้ร่วมกับหน่วยล้างไตผ่านทางช่องท้อง ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) จัดทำโครงการ “Comfort PD Care” ขึ้นมา เป็นการสร้างรูปแบบใหม่ในการจัดบริการล้างไตที่โรงพยาบาลชุมชน คาดหวังที่จะให้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องได้รับความสะดวกสบายเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ใช้วิธีฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม ลดการติดเชื้อ และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่

นพ.ชุติเดช กล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มนำร่องโครงการ Comfort PD Care ใน 2 จังหวัดในพื้นที่ สปสช.เขต 4 สระบุรี ได้แก่ 1. จ.สระบุรี อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของโรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลพระพุทธบาท 2. จ.ปทุมธานี อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลปทุมธานี และคณะแพทย์ศาสตร์ มศว. ด้วยแนวคิดที่ว่าผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านช่องท้องจะต้องได้รับการดูแลล้างไตอย่างสม่ำเสมอ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โครงการ Comfort PD Care

ในส่วนของกลไกที่จะช่วยทำให้โครงการ Comfort PD Care เป็นไปตามเป้าประสงค์ คือ 1. ต้องมีโรงพยาบาลแม่ข่ายที่มีอายุรแพทย์โรคไตอยู่ 2. ดำเนินการร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยโรงพยาบาลชุมชนจะทำกิจกรรมอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง-จัดทีมพยาบาลเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ ดูแลให้ผู้ป่วยล้างไตอย่างถูกวิธี เหมาะสม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีโภชนาการ สอง-ต้องมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแล้วเช็คปัญหาแต่ละจุด มีการประชุมกันทุกเดือนเพื่อปรึกษาปัญหาเคสผู้ป่วย และสาม-ต้องสร้างระบบที่เรียกว่า  Advance care planning หรือการวางแผนดูแลผู้ป่วยในกลุ่มนี้ในขั้นสูง 

สำหรับการประเมินผลลัพธ์ จะพิจารณาจาก 1. ความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ 2. การปฏิบัติได้ตามกติกาและแนวทางปฏิบัติที่วางไว้ 3. มีการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ 4. ภาวะการติดเชื้อลดลงหรือไม่มี 5. ภาวะโภชนาการดีของผู้ป่วย

“คาดว่าจะนำร่องโครงการไปจนครบ 1 ปี จึงจะสามารถประเมินผลได้ว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าโครงการนี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้จริง ซึ่งในการทดลองนี้ หากพบว่ามีค่าใช้จ่ายระหว่างทางตรงไหน ก็อาจจะสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับ สปสช. เพื่อผลักดันออกมาเป็นกลไกทางการเงินต่อไป และแน่นอนว่า หากผลลัพธ์ออกมาดีก็อาจใช้เป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยทุกสิทธิทั่วประเทศต่อไป” นพ.ชุติเดช กล่าว 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง