ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว 4 เดือนสำหรับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช การลุงทุนครั้งใหญ่ในระบบสาธารณสุขไทย ด้วยงบประมาณ 5,600 ล้านบาท ที่กำลังกลายเป็นความหวังของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน

ย้อนไปเมื่อปี 2553 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ขนาด 750 เตียง เพื่อเป็นโรงเรียนแพทย์จัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษากลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่งเสริมการวิจัยทางการแพทย์ ตลอดจนการให้บริการทางการแพทย์แก่พี่น้องประชาชนภาคใต้ตอนบน นับเป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของภาคใต้ ต่อจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

“รัฐบาลมองว่า ภาคใต้ 14 จังหวัดมีโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์อยู่แห่งเดียว ประชาชนบางส่วนต้องเดินทางไปไกลถึงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อรับบริการระดับซับซ้อน ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีหลักสูตรแพทยศาสตร์อยูแล้ว จึงได้เสนอโครงการไปและมีมติเห็นชอบเพื่อให้การดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง และแบ่งเบาภาระของประชาชนในภาคใต้ตอนบน” รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) และผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งโรงพยาบาล

ปัจจุบันการก่อสร้างในเฟสแรก ขนาด 426 เตียงภายใต้งบประมาณ 3,023 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 84,000 ตรม. เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ด้วยวิสัยทัศน์ “เป็นโรงพยาบาลชั้นนำระดับตติยภูมิขั้นสูงที่มีคุณภาพและเป็นแหล่งเรียนรู้ในภาคใต้ตอนบน”

(รศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี)

 

เพียบพร้อมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัย

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า แม้จะเพิ่งเปิดบริการแบบเต็มรูปแบบมาได้ไม่นาน แต่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความพร้อมทั้งในเรื่องสถานที่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับซัพบอร์ด (ผู้เชี่ยวชาญต่อจากเฉพาะทาง) เครื่องมือที่ทันสมัย

ในแง่ของกำลังคน ตอนนี้มีแพทย์ที่บรรจุแล้ว 75 อัตรา ส่งไปเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพ 30 คน อีก 45 คนที่เหลือคือ อาจารย์แพทย์ 20 คน และแพทย์ทั่วไป 25 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งแพทย์ทั่วไป แพทย์เฉพาะทาง และแพทย์ซัพบอร์ด สามารถดูแลรักษาได้ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิไปจนถึงตติยภูมิขั้นสูง พร้อมด้วยบุคลากรด้านอื่นๆ อีกกว่า 500 คน ส่วนด้านบริการก็มีคลินิกรักษาโรคต่างๆ กว่า 15 คลินิก ทั้งคลินิกทั่วไป และคลินิกเฉพาะทาง อาทิ คลินิกศักยกรรม คลินิกตา คลินิกโรคผิวหนังและความงาม คลินิกกระดูกและข้อ คลินิกรักษ์ใจ (จิตเวช) คลินิกทันตกรรม เป็นต้น มีห้องผ่าตัด 12 ห้อง แผนกผู้ป่วยวิกฤต (ICU) 22 เตียง พร้อมด้วยเครื่องมือที่ครบครันและทันสมัย

ในแผนกรังสีมีบริการตรวจด้วยเครื่อง MRI (เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า), CT Scan (เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์), Fluoroscopy (เครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปี้ระบบดิจิทัล), Mammogram (การถ่ายเอกซเรย์เต้านม), Bone Densitometry (การตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก), และUltrasound (เครื่องอัลตราซาวนด์)

“ยกตัวอย่างการรักษาในระดับตติยภูมิขั้นสูงตอนนี้ เรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้อง เป็น spine ที่มีเพียง 2 แห่งในภาคใต้ คือที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และที่เรา และคลินิกตาที่มีอาจารย์แพทย์จบซัพบอร์ดมาโดยเฉพาะ เช่น การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา” รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ เผย

นอกจากนี้ก็ยังมีการดูแลรักษาระดับตติยภูมิขั้นสูงเกี่ยวกับโรคเลือด มะเร็ง และศัลยแพทย์หัวใจ หลอดเลือดและทรวงอก (CVT) โดยอย่างหลังจะเริ่มให้บริการในเดือนเม.ย.นี้

 

โดดเด่นด้วยระบบสารสนเทศและเทคโนโลยี

ไม่เพียงความพร้อมในเรื่องบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย แต่ยังนำระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการ

ผอ.ศูนย์การแพทย์มวล. กล่าวว่า การบริการของที่นี่ก้าวสู่การไม่ใช้กระดาษเลย แต่ใช้ระบบสารสนเทศเข้ามาจัดการ คนไข้ที่เข้ามายื่นบัตร กรอกประวัติผ่านระบบทั้งหมด ข้อมูลทุกอย่างจะวิ่งผ่านระบบไปยังแพทย์ แผนกรังสี การตรวจเลือด หรืออื่นๆ โดยคนไข้สามารถดูผลของตัวเองได้ผ่านแอพพลิเคชั่น WUH Care

Web App ตัวนี้จะประกอบด้วย ข้อมูลส่วนตัว สิทธิการรักษา ตารางนัดหมาย ผลตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ และข้อมูลการติดต่อโรงพยาบาลที่จะช่วยให้การใช้บริการศูนย์การแพทย์มวล.เข้าถึงง่ายและมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

บริหารแบบเอกชนในราคาโรงพยาบาลรัฐ

นอกจากสถานที่ที่ดูโอ่อ่า สวยงาม มีความสะดวกสบายไม่ต่างจากโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ที่นี่ยังบริหารงานแบบเอกชน เน้นขั้นตอนให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยได้พบแพทย์เร็วที่สุด

“ทางโรงพยาบาลพยายามให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางการบริการ เพราะพวกเขามีความทุกข์กายอยู่แล้ว ถ้าต้องทุกข์ใจอีกจะยิ่งไปกันใหญ่ เรื่องนี้ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยลงมาดูด้วยตัวเอง ตั้งแต่ผู้ป่วยลงรถ ต้องไปจุดไหนบ้าง จากจุดนี้ไปจุดนั้นใช้เวลาเท่าไหร่ จุดไหนควรต้องตัด ยิ่งตอนนี้เรามีการรีออร์แกไนซ์เกี่ยวกับโฟลต่างๆ ของการให้บริการคนไข้ เพื่อให้เกิดความประทับใจมากที่สุด โดยกำหนดระยะเวลารอคอยของคนไข้ ต้องไม่เกิน 30 นาที แต่ส่วนใหญ่จะน้อยกว่านั้น เพื่อให้คนไข้ได้รับความพึงพอใจมากที่สุด”  รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ เผย

แม้จะบริหารงานแบบเอกชน แต่ที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาลเอกชนราคาแพงอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจผิดจากความสวยงามและสะดวกสบายของสถานที่ ผอ.โรงพยาบาล ยืนยันว่าค่าใช้จ่ายของที่นี่อยู่ในราคาของโรงพยาบาลรัฐ เพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล งบประมาณการก่อสร้าง คุรุภัณฑ์ และบุคลากรบางส่วนได้รับจากรัฐบาล ไม่ได้หวังการหากำไรจากการบริการทางการแพทย์ เพียงแต่จะใช้งบประมาณที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน

 

รองรับสิทธิบัตรทอง

ที่สำคัญ ที่นี่ยังพร้อมรองรับทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและประกันชีวิต

หลังจากรับสิทธิบัตรทองของนักศึกษามหาวิทยาลักษณ์ในช่วงแรก ตอนนี้ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กำลังเปิดรับผู้ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่รายรอบมหาวิทยาลัย ในต.หัวสะพาน และไทยบุรี ทั้ง 19 หมู่บ้าน เบื้องต้นโรงพยาบาลในบริเวณโดยรอบสามารถส่งต่อผู้ป่วยมารับบริการที่นี่ได้ หรือใครที่ต้องการย้ายสิทธิมาโรงพยาบาลแห่งนี้ ก็สามารถดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันของ สปสช. หรือสายด่วน 1330 หรือติดต่อโรงพยาบาลได้โดยตรง

ผอ.โรงพยาบาล เสริมด้วยว่า ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังเป็น 1 ใน 6 โรงพยาบาลนำร่องที่เข้าร่วมการใช้แอพพลิเคชั่นเป๋าตังและเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว อย่างเช่นข้าราชการหากมีส่วนที่ต้องจ่ายนอกจากสิทธิสวัสดิการที่จ่ายตรงแล้ว สามารถจ่ายผ่านแอพได้เลย หรือในกรณีส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองนอกเขต ก็สามารถเบิกจ่ายกับสปสช.โดยตรงไม่ต้องกังวลเรื่องการได้รับค่าใช้จ่ายสำหรับโรงพยาบาล ส่วนสิทธิประกันชีวิตสามารถแฟ็กซ์เคลมได้แล้ว 6 บริษัท และตั้งเป้าจะขยายให้มีไม่น้อยกว่า 20 บริษัทภายในปีนี้

 

วางเป้าเป็นโรงเรียนแพทย์เต็มตัว ปี 2569

เนื่องจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นาน และยังมีผู้เข้ามาใช้บริการไม่มากนัก ทำให้นักศึกแพทยศาสตร์ของมวล. ซึ่งเปิดรับมาตั้งแต่ปี 2551 ยังต้องถูกส่งไปเรียนชั้นคลินิก (ปีที่ 4-6 ) ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก โรงพยาบาลตรัง

“ด้วยความพร้อมในหลายๆ ด้าน เราวางเป้าไว้ว่าจะเป็นโรงเรียนแพทย์ที่สอนชั้นคลินิก ในปี 2569 การจะผ่านประเมินของแพทยสภา เพื่อเป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นคลินิกได้ นั่นหมายความว่าเราต้องมีจำนวนคนไข้และจำนวนเคสมากพอ” รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์แบบเต็มตัวไม่ใช่แค่เปิดสอนชั้นคลินิก แต่ยังรวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร โดยการผลักดันแพทย์ทั่วไปเรียนบอร์ด แพทย์ที่จบบอร์ดแล้วก็ส่งไปเรียนซัพบอร์ด เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเป็นแหล่งผลิตบุคลการทางการแพทย์ในอนาคต

“การจะเป็นโรงพยาบาลชั้นนำระดับตติยภูมิขั้นสูงที่มีคุณภาพและเป็นแหล่งเรียนรู้ในภาคใต้ตอนบนตามวิสัยทัศน์นั้น เราต้องให้บริการประชาชนด้วยองค์ความรู้ในระดับสูง และการเป็นตติยภูมิขั้นสูง หมายถึงการมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะลงไปอีก เช่น อาจารย์แพทย์ด้านจักษุวิทยา ที่จบซัพบอร์ดด้านตาเหล่ในเด็กมาโดยเฉพาะ มีความเชี่ยวชาญอย่างมากและการดูแลเหล่านี้ ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง และยังเป็นแห่งเรียนรู้ทางการแพทย์ในอนาคต”

 

บรรลุแผน 750 เตียงภายใน 4 ปี

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจจะเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้เทียบเท่ากับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่มีการสั่งสมประสบการณ์และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง 40-50 ปี แต่รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาสู่การเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพของภาคใต้ตอนบนได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่มีการเตรียมความพร้อมมาหลายปี

“ปีที่แล้วคนไข้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 200-300 คน ปีนี้ขยับขึ้นมาที่ 500-600 คน และคาดว่าปีหน้าจะมากขึ้นไปอีก ด้วยคุณภาพและชื่อเสียงของศูนย์การแพทย์ฯ ที่จะมีการพูดต่อๆ กันไป พร้อมกับความมั่นในในฐานะโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์”

รองอธิการบดีมวล.กล่าวถึงเป้าหมายระยะสั้นว่า ในปีนี้ตั้งเป้ามีจำนวนคนไข้ทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนคน และเพิ่มเป็น 1.7 แสนในปีหน้า ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยในจาก 50 เตียงในเดือนนี้ คาดว่าจะเพิ่มถึง 120 เตียงภายในปีนี้ และน่าจะมีผู้ใช้บริการเกือบเต็มจำนวน 426  ในไม่ช้า โดยเฟสต่อไปเตรียมเสนอของบประมาณปี 2568 เพื่อขยายพื้นที่เต็มศักยภาพ 750 เตียงตามมติครม. ซึ่งตามกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2570

ความโชคดีของศูนย์การแพทย์มวล.คือมีเอกชน ได้แก่ มูลนิธิศรีธรรมราชา ได้ระดมทุนก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ อยู่ในพื้นที่ศูนย์การแพทย์ สามารถรองรับพระสงฆ์ นักบวชในศาลนาต่างๆ ได้ ทั้งหมด 114 เตียง โดยจะส่งมอบภายในปีนี้ ให้ศูนย์การแพทย์มวล.บริหารจัดการ ทำให้ภายในปีนี้จะเพิ่มศักยภาพเป็น 540 เตียง

“ความเป็นโรงเรียนแพทย์มีแนวทางการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานของแพทยสภา เราเน้นเรื่องคุณภาพการให้บริการ ไม่ใช่มาพบแพทย์ไม่กี่นาทีแล้วรับยากลับบ้าน แต่ต้องมีมาตรฐาน แพทย์จะใช้เวลาซักประวัติผู้ป่วยเองค่อนข้างนาน เพื่อทราบที่มาที่ไปสำหรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เราพยายามคงมาตรฐานเหล่านี้เอาไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกคนมาที่นี่ด้วยความสบายใจ และกลับไปสบายใจยิ่งกว่า ไว้ใจเราแล้วจะไม่ผิดหวังแน่นอน” รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ ย้ำความเชื่อมั่น