ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดงานวันอนามัยโลก หรือ World Health Day ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Health for All” หรือ “สุขภาพดีถ้วนหน้า” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน และทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค 

วันนี้ (5 เมษายน 2566) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการจัดกิจกรรมวันอนามัยโลก (World Health Day) ประจำปี 2566 และครบรอบ 75 ปี องค์การอนามัยโลก และกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การอนามัยโลกและให้ความร่วมมือในดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขระดับโลก และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น การสร้างระบบสาธารณสุขมูลฐาน ความร่วมมือด้านการกำจัดโรคเรื้อน โรคโปลิโอ และ การยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบในการรับมือกับสถานการณ์โรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่

ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกได้ดำเนินแผนยุทธศาสตร์มาจนถึงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2565 – 2569) เน้นด้านโรคไม่ติดต่อ สุขภาพแรงงานข้ามชาติ ความปลอดภัยบนท้องถนน ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข การผสานแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลกับระบบข้อมูลสุขภาพ และการยกระดับความเป็นผู้นำในด้านสุขภาพโลกของประเทศไทย ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อยกระดับการสาธารณสุขไทยให้สามารถรับมือปัจจัยสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า วันที่ 7 เมษายนของทุกปี เป็นวันอนามัยโลก โดยในปีนี้ครบรอบ 75 ปี ของการก่อตั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้จัดงานวันอนามัยโลก หรือ World Health Day ขึ้น ภายใต้แนวคิด “Health for All” หรือ “สุขภาพดีถ้วนหน้า” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน และทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ โดยมีกิจกรรมด้านการป้องกันและควบคุมโรค การส่งเสริมสุขภาพ การคุ้มครองประชาชนและผู้บริโภค และการรักษาโรคและการฟื้นฟู เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพดีถ้วนหน้าในทุกพื้นที่ ทุกสภาพแวดล้อม

ด้าน ดร. จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายของ WHO คือ การให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดี โดยการเป็นหน่วยงานที่ให้แนวทางและประสานการดำเนินงานด้านสุขภาพระหว่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศต่างๆ ประสานงานกับรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านบริการสุขภาพแห่งชาติ ส่งเสริมมาตรการที่จะนำไปสู่ชีวิตที่มีสุขภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา อายุขัยเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 46 ปี เป็น 71 ปีในปัจจุบัน และมีความท้าทายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำ ประชากรย้ายถิ่นฐาน หรือปัญหามลพิษ ทำให้อัตราของโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้น อัตราการเกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน และความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความเครียดจากการอยู่อาศัยในพื้นที่แออัดและการแข่งขัน อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและการเจ็บป่วยทางจิตได้

“ประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดี ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพ เช่น แนวคิดสาธารณสุขมูลฐาน และได้พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ที่นำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นการส่งมอบผลประโยชน์ให้กับทุกคนในประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นต้นแบบสำหรับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยจึงสามารถภาคภูมิใจได้อย่างเต็มที่กับการดำเนินงานด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จนี้
WHO ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานในวันครบรอบ 75 ปี และหวังว่า WHO จะยังคงเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่เป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้าต่อไป” ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าว

ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบว่า ประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่เป็นประจำ ร้อยละ 18.7 ดื่มสุราอย่างหนัก ร้อยละ 12.9 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 69.1 และกินผักผลไม้เพียงพอคือ มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ส่วนต่อวัน ร้อยละ 21.2 อีกทั้ง ร้อยละ 42.4 มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ร้อยละ 39.4 มีภาวะอ้วนลงพุง พบการป่วย
เป็นโรคเบาหวาน ร้อยละ 9.5 โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 25.4 และไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ร้อยละ 23.5 กรมอนามัยจึงมีนโยบายและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น นโยบายหวานน้อย ร้อยละ 5, ลดเค็ม ลดโซเดียม, รณรงค์ให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อวัน เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก โยคะ หรือร่วมกิจกรรมกับก้าวท้าใจ เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วน อ้วนลงพุง และเน้นการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้ง
จัดสภาพแวดล้อมให้ประชาชนได้เลือกซื้ออาหารจากแหล่งผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและได้มาตรฐาน เช่น ตลาดสดน่าซื้อ ตลาดนัดน่าซื้อ หรือร้านอาหาร แผงลอยที่ได้มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org