ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กฎหมายใหม่คาร์ซีท

อุ้มลูกนั่งรถอันตราย! แม่แชร์ประสบการณ์ให้ลูก 4 เดือนนั่งคาร์ซีท ลูกจึงปลอดภัย มาเปลี่ยนความเชื่อเดิมสู่การใช้ "คาร์ซีท" สอดรับ กฎหมายใหม่คาร์ซีท

"กฎหมายใหม่คาร์ซีท "

สงกรานต์นี้เด็กต้องปลอดภัยด้วย กฎหมายใหม่คาร์ซีท

อีกไม่กี่วันก็เข้าสู่ช่วงหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ หลายครอบครัวเลือกใช้รถยนต์เดินทางกลับบ้าน เพื่อเยี่ยมญาติผู้ใหญ่หรือท่องเที่ยวในวันหยุดยาว การเดินทางในแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กเล็ก กฎหมายใหม่คาร์ซีท ตามที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 บัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยตอนหนึ่งระบุว่า

  • (ข) คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
  • (ค) คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วย เข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด
  • ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือคนโดยสารมีเหตุผลทางสุขภาพอันไม่สามารถรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งได้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง แต่บุคคลนั้นต้องมีวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
  • ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายตาม (2) (ข) และวิธีการ ป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด 

ด้วยความห่วงใยการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว กฎหมายใหม่คาร์ซิท ประกาศแล้ว..สงกรานต์เด็กจะเดินทางอย่างไรให้ปลอดภัย เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ณ ห้องประชุมเจริญคุณธรรม ชั้น 3 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว 

"กฎหมายใหม่คาร์ซีท "

ศจ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กไทยเกิดน้อยลง ประชากรในประเทศไทยลดน้อยลง อีกทั้งสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในเด็กเล็ก คือ อุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลหยุดยาวจึงต้องระมัดระวัง จากการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเพื่อลดอุบัติเหตุในเด็ก มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ เรื่องคาร์ซีท เมื่อใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กแล้ว อัตราการเสียชีวิตโดยรถยนต์จะลดลง 55-78 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าอัตราการใช้รถยนต์ของสหรัฐฯ จะมากขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตนั้นน้อยลง เพราะใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็ก การใช้คาร์ซีทอย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยชีวิตเด็กได้ โดยเฉพาะเด็กทารก หากอุ้มเด็กในรถอาจเกิดอันตราย เด็กจะกระเด็นได้ จึงต้องให้ความรู้ประชาชน หวังว่า กฎหมายใหม่คาร์ซีท ที่ออกมาจะช่วยเรื่องความปลอดภัยกับเด็กได้มากขึ้น

"กฎหมายใหม่คาร์ซีท "

ด้าน พ.ต.อ.หญิง จินดา กลับกลาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสริมว่า ในแต่ละปี เราสูญเสียเด็กที่เป็นอนาคตของชาติไปกับอุบัติเหตุ หวังว่า การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เราว่างเว้นมาหลายปี และในวันที่ 11-17 เม.ย.นี้ จะเป็น 7 วันอันตราย การสร้างความตระหนักรู้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง 

"พ.ต.อ.หญิง จินดา กลับกลาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"

"สตช.ประกาศเรื่องที่นั่งเด็ก โดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 แต่มาตรา 123 เนื่องจากว่า ที่นั่งนิรภัยเด็กเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย จึงให้โอกาส ให้ความรู้ประชาชนก่อน โดยวัตถุประสงค์หลักของการออกกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กในการเดินทางกรณีที่เด็กเป็นผู้โดยสาร โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่ยังรัดเข็มขัดไม่ได้ กำหนดว่า ต้องนั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ส่วนเด็กที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องมีที่นั่งเสริมพิเศษ (Booster Seat) เสริมที่นั่งให้เด็กสูงขึ้นจนสามารถรัดเข็มขัดนิรภัยได้ โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)" พ.ต.อ.หญิง จินดา เพิ่มเติม

"กฎหมายใหม่คาร์ซีท"

พ.ต.อ.หญิง จินดา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยลงปฏิญญากับองค์การอนามัยโลก (WHO) ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้ได้ครึ่งหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็น 12 เป้าหมายโลกว่า บังคับให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีแผนแม่บทด้านความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 พ.ศ.2565 - 2570 กำหนดว่า ต้องมีกฎหมายเรื่องของคาร์ซีท โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นเจ้าภาพ ทำงานร่วมกับเครือข่าย ปัจจุบันได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องที่นั่ง มีรูปแบบ วิธีการ ตามกำหนด อีกทั้งได้ร่วมประชุมกับเครือข่าย มีประชาพิจารณ์ว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากไม่เคยมีกฎหมายมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก การสร้างความตระหนักรู้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยกฎหมายให้มีผล 180 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ช่วงนี้จึงขอเชิญชวนผู้ปกครอง บิดามารดา จัดหาที่นั่งเด็กในการเดินทางช่วงสงกรานต์ ส่วนวิธีการอื่นเพื่อความปลอดภัย เช่น 

  • ขับรถให้ช้าโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องขับให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้าย
  • จัดให้เด็กนั่งในที่นั่งโดยสารตอนหลัง เว้นแต่เป็นรถกระบะหรือรถกึ่งกระบะ ให้นั่งโดยสารที่นั่งตอนหน้าได้ ห้ามมิให้นั่งตอนท้ายกระบะ
  • ต้องมีผู้ดูแลเด็กในขณะโดยสารหรือให้เด็กรัดเฉพาะเข็มขัดรัดหน้าตัก

"คาร์ซีท"

ขณะที่ นางกมลวรรณ์ ตัวแทนคุณแม่ ได้เล่าอุทาหรณ์อุบัติเหตุรถชน ขณะที่ลูกน้อยวัย 4 เดือนนั่งอยู่ในคาร์ซีทว่า ทุกครั้งที่ดูคลิปก็ยังตื่นเต้น ได้ยินเสียงลูกร้องในคลิปก็ยังสั่นในใจ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 26 มี.ค. เวลาประมาณ 3 ทุ่มกว่า ตนกำลังพาครอบครัวเข้า กทม. เดินทางมาจากลพบุรี ใช้ความเร็ว 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในรถมี 4 คน มีคุณแม่นั่งด้านหน้าด้วยกัน สามีและลูก 4 เดือนอยู่ข้างหลัง ซึ่งคาร์ซีทของลูกติดตั้งฝั่งข้างหลังของคุณแม่ ลูกจะหันหน้ามองไปด้านหลังของตัวรถ เข็มขัดนิรภัยก็รัดให้แน่น พอดีที่นิ้วสอดได้ 1 นิ้ว เพื่อลดการเหวี่ยงตัวกรณีเกิดอุบัติเหตุขึ้น ให้ถูกต้องตามมาตรฐาน คาร์ซีทที่ใช้จะยึดติดกับตัวรถอย่างแน่นหนา ลูกจึงปลอดภัย ไม่มีการสูญเสีย ตอนนี้รู้สึกดีใจ ขอบคุณตนเองกับสามีที่เลือกซื้อคาร์ซีทตั้งแต่ก่อนคลอดลูก วันแรกที่ขึ้นรถก็ให้ลูกนั่งคาร์ซีทเลย 

"เหตุการณ์เกิดขึ้นบนถนนสวนเลน เพียงเสี้ยววินาที รถคู่กรณีก็ขับมาขวาง ไม่มีจังหวะได้เบรก แล้วก็ชนกลางลำ ลูกก็ร้องบนคาร์ซีท ส่วนตนปวดมือทั้งสองข้าง ก็พยายามเปิดประตูไปหาลูก คว้ามาอุ้ม ถ้าไม่มีคาร์ซีทลูกจะกลิ้งไปส่วนไหนของรถก็ไม่รู้ ชาวบ้านบอกคู่กรณีของเรา คล้ายคนเมา มีกลิ่นแอลกอฮอล์ ทุกคนนอนรอการรักษา ก็เอาน้องไปตรวจเช็คร่างกาย มือเราบวมสั่น ได้แต่ร้องไห้ อยากจะลุกไปอุ้ม คิดว่าเขาเจ็บตรงไหน มันเป็นอารมณ์ที่บอกไม่ถูกว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับลูกจะเป็นยังไง ลูกก็ปลอดภัยที่สุดคนเดียว ไม่มีบาดแผล ไม่ฟกช้ำ กะโหลกก็ปลอดภัย ตนกับแม่ แอดมิท 4 คืน 5 วัน ขนาดเราใช้ความเร็วไม่เยอะ ไม่ได้ชนจากการประสานงา แต่คู่กรณีเบรกมาจอดอยู่แล้ว สามีก็คาดเข็มขัดนิรภัย ทุกคนก็ยังเขียวช้ำ แว่นตาสามีหัก หน้าจอโทรศัพท์แตก ถ้าวันนั้นลูกไม่อยู่ในคาร์ซีท ก็คงไม่ได้มีเขาในวันนี้ นาทีนั้นเกิดขึ้นไวมาก ไม่ทันตั้งตัว มือของตนก็ยังอุ้มลูกไม่ได้ คลิปอุบัติเหตุครั้งนี้ได้แชร์ไปในกลุ่มไลน์ที่มีคุณแม่อยู่ในนั้น 500 คน ตนไม่อยากให้ครอบครัวไหนพบเจอ หรือสูญเสีย เพราะทุกอย่างไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้ อยากให้แม่ตระหนักถึงคาร์ซีทว่า ปลอดภัยได้เพราะคาร์ซีท" นางกมลวรรณ์ กล่าว 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทิ้งท้ายว่า สงกรานต์เป็นเทศกาลความสุขของครอบครัว แต่อาจมีหลายครอบครัวสูญเสียจากการเดินทางได้ใน 7 วันอันตราย จึงควรใช้คาร์ซีทให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ กฎหมายใหม่คาร์ซีท เห็นได้จากกรณีอุบัติเหตุที่คุณแม่ได้มาแบ่งปัน เพียงเสี้ยววินาทีเกิดแรงมหาศาลเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แรงดังกล่าวจะเกินกว่าที่จะเอาตัวเองอยู่ หรืออุ้มกอดลูกได้ แม้แต่จอมือถือยังแตก เด็กอาจทะลุกระจกหรือกระแทกกับโครงสร้างรถยนต์ โดยสรุปคือ ผู้โดยสารทุกคนต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง แต่เด็กที่อายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : มหิดลห่วงเด็กปลอดภัยเมื่อใช้คาร์ซีท แนะผู้ขายอย่าโฆษณาอ้างรถครอบครัว เหตุเด็กต่ำกว่า 9 ขวบคาดเบลท์ไม่ได้

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org