ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเผยตัวเลขผู้ป่วยโควิดช่วงสงกรานต์ 2566 (9-15 เม.ย.) เข้ารับรักษาในรพ.แล้ว 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย แนวโน้มรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า ย้ำ! วัคซีนเข็มกระตุ้นลดอันตราย ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16  ในไทย 6 รายอาการไม่รุนแรง เผยโควิดสายพันธุ์หลักในประเทศเป็น  XBB.1.5 

 

ช่วงสงกรานต์ป่วยโควิดเข้ารักษาในรพ.เพิ่มขึ้น 

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำสัปดาห์ที่ 15 ปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วทั้งหมด 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ซึ่งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้ มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 และร้อยละ 36 ตามลำดับ เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยสัปดาห์ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น นานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว จึงขอย้ำให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ สถานบริการจะปรับการให้บริการรูปแบบวัคซีนโควิดประจำปีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

“กรณีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก พบเชื้อแล้วใน 22 ประเทศโดยเฉพาะประเทศอินเดีย เชื้อสายพันธุ์ล่าสุดนี้มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์ในอดีต เป็นที่จับตาขององค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูลขณะนี้พบว่าอาการไม่ได้รุนแรงเพิ่ม ทั้งนี้ ฐานข้อมูล GISAID มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย 6 ราย จากที่มีรายงานทั่วโลกเกือบ 3 พันราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2566)” นพ.ธเรศ กล่าว

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมควบคุมโรคคาดหลัง สงกรานต์2566 ผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงแน่! แนะสังเกตอาการ 7 วัน)

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

 

XBB.1.16 ในไทย จำนวน 6 รายอาการไม่รุนแรง เดินทางมาจากตปท.

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 ในไทย จำนวน 6 ราย นั้น ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อยู่ในวัยทำงาน และอาการป่วยไม่รุนแรง ส่วนอาการสำคัญของ XBB.1.16 ที่ประเทศอินเดียรายงานว่ามี “เยื่อบุตาอักเสบ” ยังไม่มีรายงานในผู้ป่วยที่พบในไทย อย่างไรก็ตาม อาการของโควิด ที่เรารู้ว่า จะมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ บางรายก็จะมีอาการระคายเคืองตามใบหน้า หรือดวงตาได้

 

“ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า XBB.1.16 จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อื่น ส่วนการกลายพันธุ์ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ทางกรมควบคุมโรคก็ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก และขอให้มารับวัคซีนโควิด ถ้าหากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน” นพ.โสภณ กล่าว

สังเกตอาการ 7 วันหลังสงกรานต์

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนออกมาเล่นน้ำจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันมากที่สุด และมีความเสี่ยงสูงที่สุดแล้ว แต่เชื่อว่าการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์ นั้น จะไม่กระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน จึงขอให้สังเกตอาการตนเองใน 7 วันหลังจากนี้ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิด กับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง    อย่างไรก็ตาม สามารถสังเกตอาการ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก ให้ตรวจ ATK หากผลเป็นบวกก็ให้ปรึกษาแพทย์รักษาตามสิทธิและตามระดับอาการ ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ขณะที่ยังไม่มีอาการ ทั้งนี้ โรงพยาบาล มียา เวชภัณฑ์ เตียงเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

โควิดสายพันธุ์หลักในไทย คือ XBB.1.5

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์  หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  จากข้อมูลภาพรวมการระบาดของโอมิครอนในประเทศไทยในช่วง 30 วันล่าสุด ที่มีการส่งข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ในไทยที่ถอดรหัสพันธุกรรมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID ผ่าน Outbreak.info ซึ่งทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า สายพันธุ์หลักในประเทศไทยขณะนี้คือ XBB.1.5  ประมาณ 47%  รองลงมาคือ XBB.1.9.1 ประมาณ 27% XBB.1.16  ประมาณ 13% XBB.1.5.7  ประมาณ 7% และ XBB.1.16.1 ประมาณ 7%

ทั้งนี้ สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นตัวที่ทั่วโลกกำลังจับตาเนื่องจากมีการแพร่เร็ว ทั้งยังหลบหลีกภุูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนได้ดี แต่ข้อมูลที่พบอาการทางคลินิกยังไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น แม้ติดเชื้อยังไม่มีใครล้มป่วยหนัก แม้แต่ที่ประเทศอินเดียที่มีการระบาดมาก แต่คนไข้อาการหนักไม่ได้เพิ่มมาก การนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดความตระหนัก และให้เกิดการเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดการหย่อนยาน เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นในปัจจุบัน ลักษณะการระบาดมีความถี่มากขึ้น

อีกทั้ง ภาวะโลกร้อนทำให้วัฎจักรเกิดการเปลี่ยนแปลง ไวรัสก็มีการเปลียนแปลง  จึงต้องระวัง อย่างไรก็ตามหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วประเทศเกิดการเรียนรู้ เฝ้าระวัง มีนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงยา เวชภัณฑ์ วัคซีนเข้ามารองรับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเชื่อว่าหากเกิดอะไรขึ้นน่าจะเอาอยู่

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org