ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าผู้คนทั่วโลกเกือบ 1,000 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 10 มีปัญหาสุขภาพจิต แต่คนที่ต้องการความช่วยเหลือเหล่านี้มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตที่มีประสิทธิภาพ ในราคาจับต้องได้ และมีคุณภาพ

แม้ว่าใครก็ตามที่มีความกังวลเกี่ยวกับตัวเขาเองหรือญาติ ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เป็นอันดับแรก แต่การเติบโตของแชตบอตนักบำบัดด้านสุขภาพจิตกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากความล้ำของปัญญาประดิษฐ์อย่าง ChatGPT เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว แชตบอตยังสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา แถมจะพูดจะคุยอะไรก็ดูจะสะดวกใจมากกว่าเปิดใจคุยกับมนุษย์ด้วยกัน

ผู้ใช้ Reddit รายหนึ่งแชร์ประสบการณ์ไว้ว่า “ในฐานะคนที่ใช้บริการด้านสุขภาพจิตมามากในชีวิต ผมพูดได้เลยว่าผมพบว่า ChatGPT มีประโยชน์อย่างเหลือเชื่อ มากกว่ามนุษย์หลายคนที่ผมเคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วยซะอีก” ส่วนยูทูบเบอร์ อาร์โนลด์ ทรินห์ บอกว่า “ปกติคอร์สโค้ชชิ่งหรือคอร์สบำบัดเหล่านี้อาจราคาสูงกว่า 90 ดอลลาร์ในสหรัฐฯ แต่หากเป็น ChatGPT คุณเข้าถึงมันได้ฟรี แน่นอนว่ามันไม่ได้มาเพื่อแทนที่นักบำบัดจริงๆ แต่มันก็ทำได้ดีมากไม่ต่างจากไปพบแพทย์จริงๆ เลย”

คำถามก็คือ แล้วแชตบอตเหล่านี้จะมีความ “เป็นมนุษย์” มากพอที่จะเป็นนักบำบัดที่มีประสิทธิภาพไหม

จุดนี้ยังมีข้อถกเถียงและข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องจักรในการอ่านหรือตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์อย่างแม่นยำ เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าอารมณ์มนุษย์นั้นซับซ้อนสุดจะหยั่งจริงๆ

เซริเฟ เทคิน ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทกซัสซานอันโตนิโอเผยว่า อัลกอริทึมยังไม่ถึงจุดที่สามารถเลียนแบบความซับซ้อนของอารมณ์ของมนุษย์ ยังไม่ต้องพูดถึงการเลียนแบบเรื่องความเห็นอกเห็นใจกันที่มนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เทคินบอกอีกว่าอาจมีความเสี่ยงที่วัยรุ่นอาจพยายามบำบัดรักษาตามที่ AI แนะนำแต่ไม่ได้ผล ซึ่งอาจทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้ปฏิเสธการรักษากับนักบำบัดที่เป็นมนุษย์ไปเลย

ขณะที่นโยบายของ OpenAI เจ้าขอ ChatGPT ระบุไว้ว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ควรใช้เพื่อบอก "ใครบางคนว่าพวกเขามีหรือไม่มีอาการป่วย หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรักษาอาการทางสุขภาพ" เนื่องจากแชตบอตของ OpenAI ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ข้อมูลด้านการแพทย์ “คุณไม่ควรใช้แชตบอตของเราเพื่อให้บริการวินิจฉัยหรือรักษาโรคร้ายแรง แพลตฟอร์มของ OpenAI ไม่ควรถูกนำมาใช้คัดแยกผู้ป่วย หรือจัดการปัญหาที่เป็นอันตรายถึงชีวิตที่ต้องการการดูแลอย่างทันท่วงที”

ศาสตราจารย์ด้านสุขภาพจิตหลายคนยังเตือนผู้ใช้ไม่ให้นำแชตบอตบำบัดมาใช้แทนที่การบำบัดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดานิเอลา มาริน นักบำบัดเผยว่า “มีเพียงนักบำบัดเท่านั้นที่สามารถจัดเตรียมแผนการรักษาแบบเฉพาะบุคคลสำหรับคุณได้ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร มัน (แชตบอต) ไม่รู้หรอกว่าอะไรช่วยหรือไม่ช่วยคุณ...มันไม่สนหรอกว่าคุณจะหายไหม มันไม่แคร์ด้วยว่าคุณทำหรือไม่ทำตามคำแนะนำ”

เช่นเดียวกับ เอ็มมา แม็คอาดัม นักบำบัดเกี่ยวกับครอบครัวและชีวิตสมรสที่บอกว่า “ดูเหมือนว่า ChatGPT จะตอบคำถามตามหัวข้อได้ดีมาก มันให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลือกการบำบัดรักษาทั่วไปได้ดี แต่มันไม่มีทางให้ความสัมพันธ์ที่สนับสนุนซึ่งกันและกันและการสนับสนุนทางด้านอารมณ์อย่างที่คนจริงๆ ทำได้”

พอล มาร์สเดน สมาชิกสมาคมจิตวิทยาอังกฤษเผยว่า แอพพลิเคชันที่มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงสุขภาพจิตช่วยได้หากเราพบแอพที่ถูกต้อง แต่ถึงอย่างนั้นก็ช่วยได้อย่างจำกัดเท่านั้น “ตอนที่ผมดู มันมีแอพเกี่ยวกับความวิตกกังวลกว่า 300 แอพ...แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าจะใช้แอพไหนดี แอพเหล่านี้ควรเป็นเพียงส่วนเสริมจากการบำบัดแบบตัวต่อตัวกับแพทย์เท่านั้น ความเห็นของคนส่วนใหญ่คือแอพไม่สามารถแทนที่การบำบัดด้วยมนุษย์”

เพราะการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญนั้นให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าทึ่งเกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ผ่านข้อความหรือคำพูด แต่โดยการเห็นหน้าค่าตากันและเห็นภาษากาย การตอบสนองทางอารมณ์ ตลอดจนความรู้ที่น่าทึ่งเกี่ยวกับประวัติของผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าแชตบอตเหล่านี้มีประโยชน์กับทั้งผู้ป่วยและตัวแพทย์เอง มอนิกา บลูม ผู้อำนวยการคลินิก Center for Hope เผยว่า “ฉันคิดว่าในช่วงกลางดึก หากคุณไม่มีคนจริงๆ ให้คุยด้วย มัน (แชตบอต) อาจเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ใช่ที่ที่จะเชื่อฟังหรือทำตามคำแนะนำ แต่เป็นที่ที่จะเริ่มคิดว่าจะทำอะไรบ้าง”

 

ภาพ: https://www.htworld.co.uk/news/mental-health-chatbot-gains-medical-device-status-in-world-first/