ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ควบคุมยาสูบฯ เผยอาการคนอยากบุหรี่ พบหิวบ่อยมากถึง 70%  เหตุ "นิโคติน" ทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า กดสมองทำไม่อยากอาหาร อิ่มทิพย์ เมื่อเลิกบุหรี่เกิดโยโย่ น้ำหนักพุ่ง!  ขณะที่ยาเลิกบุหรี่-นิโคตินทดแทนยังไม่อยู่ในบัญชียาหลักฯ เพราะราคาสูง ข่าวดี! อภ.วิจัยยา “ไซทิซีน” เลิกบุหรี่จ่อขึ้นทะเบียน อย.เร็วๆ นี้  

 

อาการอิ่มทิพย์ของคนอยากบุหรี่

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า คนติดบุหรี่หรือติดนิโคติน เมื่อจะเลิกบุหรี่มักมีอาการลงแดงหรืออาการอยากบุหรี่ คือ หงุดหงิด งุ่นงาน ไม่เป็นตัวของตัวเอง ฉุนเฉียว ขี้โมโห โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ อย่างเคยมีคนไข้เป็นศิลปินก็บอกวาดรูปไม่ได้ เหมือนไม่ใช่ตัวเอง รวมไปถึงเวียนหัว นอนไม่หลับ แต่อาการลงแดงที่พบบ่อยแต่คนมักไม่ค่อยพูดถึง คือ อาการหิวบ่อย  ซึ่งเจอเยอะมากคือ ร้อยละ 70 เมื่อหยุดบุหรี่ก็คือกินเก่ง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้น้ำหนักขึ้นและอ้วน ทั้งนี้ มีงานวิจัยรายงานออกมาว่า คนเลิกบุหรี่เมื่อขาดนิโคตินไประยะหนึ่ง จะเห็นอันดับแรก คือ ร่างกายน้ำหนักขึ้น 5-10 กิโลกรัม และกว่าจะลดได้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

 

"คนๆ หนึ่งสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า นิโคตินจะมีฤทธิ์กดสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความอยากอาหาร จึงไม่ต้องอยากอาหาร อิ่มตลอดเวลา อิ่มทิพย์ จะไม่ค่อยอยากกิน สังเกตนางแบบส่วนใหญ่หุ่นจะสลิมมาก มีนางแบบจำนวนไม่น้อยเลยทั้งไทยและต่างประเทศที่สูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีเอฟเฟกต์เดียวกันหมดคือ กดความอยากอาหาร เมื่อไรที่เลิกสูบบุหรี่จะรีบาวนด์ คือ ที่กดๆ มันไว้ก็หายหมดเลย จะกลับมากินตามที่ร่างกายจะอยาก เหมือนโยโย่ จึงกลับขึ้นมา 5-10 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย" รศ.นพ.สุทัศน์กล่าว

ไซทิซีน (Cytisine) ยาทางเลือกเลิกบุหรี่ของ อภ.

รศ.นพ.สุทัศน์กล่าวว่า จริงๆ แล้วแนวทางในต่างประเทศ หากสูบบุหรี่จะให้ยาเลิกบุหรี่หมดทุกคน แต่บ้านเรามีปัญหาเรื่องงบประมาณ เราจึงลองดูเฉพาะรายที่ไม่มียาแล้วเลิกไม่ได้ จึงให้ยาเลิกบุหรี่ในคนที่ติดนิโคตินเยอะ ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ คนที่ต้องสูบมวนแรกในครึ่งชั่วโมงหลังตื่นนอน และกลุ่มที่ต้องสูบวันละ 20 มวนขึ้นไปหรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า 20 ทีขึ้นไป ก็จะแนะนำให้ยา เพราะโอกาสที่จะเลิกไม่ได้มีสูงมาก ซึ่งยาเลิกบุหรี่และนิโคตินทดแทน ทั้งรูปแบบแผ่นแปะและหมากฝรั่ง ยังไม่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากมีราคาแพง

ดังนั้น ผู้ที่เลิกบุหรี่เมื่อต้องรับยาเลิกบุหรี่หรือนิโคตินทดแทนยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง แต่ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตยาตัวหนึ่งใช้เลิกบุหรี่เป็นรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ชื่อ "ไซทิซีน (Cytisine)" เป็นสารสกัดพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งในอเมริกาใต้ ซึ่งผลการศึกษาออกมาพบว่ามีประสิทธิภาพดี ปลอดภัย คาดว่าจะจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จากนั้นจะผลักกันเพื่อให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีตามกระบวนการ หากเข้าได้ก็จะเป็นคุณูปการกับคนไทยอย่างมาก เพราะมีประสิทธิภาพดี ปลอดภัย ราคาถูก และผลิตเองได้ในประเทศไทย

"รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา"

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยาช่วยเลิกบุหรี่ไซทิซีนของ อภ. (Cytisine 1.5 mg tablets) ได้ทำการวิจัยและพัฒนามาตั้งแต่ปี 2560 ถือว่าเป็นยาใหม่และยังไม่มียาต้นแบบขึ้นทะเบียนยาใช้ในประเทศไทย ในเวลานั้นอยู่ระหว่างทำการศึกษาความคงสภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 5 ปี เพื่อควบคุมคุณภาพของยา และได้ทำการศึกษาทางคลินิกควบคู่ไปด้วย โดยทำการผลิตยาเม็ดไซทิซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot scale) เพื่อใช้ในโครงการวิจัยการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบบริการเลิกยาสูบแบบเป็นขั้นตอนในประเทศไทย (STEP trial) ซึ่งมี รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย