ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติผลักดันยารักษาโรคเสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อช่วยรักษาผู้ติดบุหรี่หนักและกลุ่มที่เป็นโรคไม่ติดต่อให้เลิกบุหรี่ พร้อมให้จังหวัดเร่งขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบอย่างจริงจัง ลดนักสูบหน้าใหม่ จัดบริการคลินิกสูบบุหรี่ในโรงพยาบาล

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2562 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เข้าร่วมประชุม

นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมวันนี้เห็นด้วยในการผลักดันให้ยารักษาโรคเสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อช่วยรักษาผู้สูบบุหรี่ที่สูบหนัก ซึ่งการจะจ่ายยานั้นคนไข้ต้องได้รับการคัดกรองและมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน และพูดคุยกับแพทย์ก่อนรับการรักษา เช่น เป็นผู้สูบบุหรี่ที่มีพฤติกรรมการสูบหนัก สูบบุหรี่วันละ 20 มวน ขาดบุหรี่ไม่ได้ ต้องสูบบุหรี่ภายใน 30 นาทีแรกของการตื่นนอน หรือลุกไปสูบบุหรี่ระหว่างการทำงาน/การประชุม เป็นต้น ซึ่งในการให้ยาจะมีความคุ้มทุนมากกว่าการรักษาผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่

สำหรับการควบคุมยาสูบในระดับ จังหวัด คณะกรรมการยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก จะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีนักสูบหน้าใหม่ ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ โดยมีคณะทำงานระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นเลขานุการ มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ และมีนิติกรร่วมเป็นคณะทำงาน

ทั้งนี้ หลายจังหวัด เช่น สกลนคร อุดรธานี สงขลา เชียงราย มีการดำเนินงานควบคุมยาสูบแบบบูรณาการ ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ การดำเนินงานนโยบายประชาคมระดับอำเภอเรื่องการควบคุมยาสูบ สถานศึกษาปลอดบุหรี่ ชุมชนต้นแบบในการดำเนินงานเลิกบุหรี่ อสม.ชักชวนผู้สูบบุหรี่ให้เลิกสูบได้ คลินิกบำบัดบุหรี่ต้นแบบ ชุมชนปลอดเหล้า สิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ วัด และโรงเรียน และการบังคับการใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้ประสบความสำเร็จ ลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ เป็นแบบอย่างสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นได้