ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาองค์การลูกจ้างฯยื่น 7 ข้อเรียกร้องวันเมย์เดย์ (Mayday)  ก่อนชงจริงจังต่อรัฐบาลใหม่  ขอปรับเงินบำนาญชราภาพประกันสังคม 3 พันบาทต่อเดือนไม่พอกิน!  พร้อมเสนอให้คง 3 สิทธิ์ผู้ประกันตนที่เกษียณ และเข้าสู่ประกันตนเองตามมาตรา 39  1. การรักษาพยาบาลตลอดชีวิต  ไม่ปรับเข้าสู่ระบบบัตรทอง 2. เงินชดเชยทุพพลภาพ  3.ค่าทำศพ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566  ซึ่งเป็นวันแรงงานสากล หรือวันเมย์เดย์ (May day)  ของทุกปี ซึ่งในปี 2566 มีกลุ่มเครือข่ายแรงงานร่วมกันจัดงานหลายกลุ่ม หลักๆ คือ คณะกรรมการจัดงานจาก 15 สภาองค์การลูกจ้าง กับสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และกลุ่มแรงงานนอกระบบ มีกระทรวงแรงงานอำนวยความสะดวกในการจัดงาน โดยช่วงเช้ามีพิธีทางศาสนา โดยอาราธนานิมนต์สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี สมเด็จธงชัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ จัดพิธีสงฆ์ที่กระทรวงแรงงาน จากนั้นเวลา 08.30 น. ได้เคลื่อนริ้วขบวน 20 ขบวน จากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ให้สัมภาษณ์หลังเดินขบวนมาถึงลานคนเมือง ว่า ข้อเรียกร้องในปีนี้ ที่ยื่นต่อรัฐบาล มีทั้งหมด 7 ข้อ หลายข้อเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ยื่นมานาน อย่าง

1.ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นข้อเรียกร้อง มาตลอด 31 ปี ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน กลับไม่มีรัฐบาลไหน ตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมาในหลายประเทศไม่รับสินค้าไทยเพราะรัฐบาลไม่ยอมรับรองอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งอนุสัญญานี้ไม่มีพิษอะไรแต่รัฐบาลไม่รับเพราะเกรงว่าจะทำให้กลุ่มแรงงานสามารถรวมตัวและมีอำนาจในการเจรจาต่อรอง

 

2. เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานออกพระราชบัญญัติ หรือกฎกระทรวง ให้มีการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง กรณีสถานประกอบการเลิกจ้าง โดยให้สถานประกอบการการเงินส่วนหนึ่งไว้ในธนาคาร หากไม่มีการเลิกจ้างเงินนั้นยังเป็นของนายจ้าง แต่เมื่อไหร่ที่เกิดการเลิกจ้าง ก็สามารถนำเงินนี้มาชดเชยให้ลูกจ้างได้

 

ร้องปรับเงินบำนาญชราภาพต้องเพียงพอ เริ่มต้น 5 พันบาท

3. สิทธิตามระบบประกันสังคม ซึ่งถือว่าดีที่สุดเมื่อ 30 ปีที่แล้วแต่ ณ วันนี้มีบางข้อที่ล้าสมัย เช่น เงินบำนาญชราภาพ ที่ให้สูงสุด อยู่ที่ 3,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ที่ไม่มีงานทำ ดังนั้นขอเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่ม เงินบำนาญชราภาพเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

 

ร้องสิทธิ์ผู้ประกันตนเกษียณ

4. ขอเรียกร้องให้คงสิทธิ์ 3 ประการให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณ และเข้าสู่ประกันตนเองตามมาตรา 39 ดังนี้ 1. การรักษาพยาบาลตลอดชีวิต โดยไม่ปรับเข้าสู่ระบบบัตรทอง 2. เงินชดเชยทุพพลภาพ และ3.ค่าทำศพ

 

เหน็บเคยหาเสียงปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่กลับเงียบ

" ขณะนี้รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ ข้อเรียกร้องปี 66 เราจึงดำเนินการตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา แต่ ทันทีที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ทางเครือข่ายแรงงานของเรา จะมีการรีวิว และยื่นข้อเสนอเหล่านี้ต่อรัฐบาลใหม่ โดยย้ำในข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องรับรอง อนุสัญญาไอแอลโอโอฉบับที่ 87 และ 98 ส่วนเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งได้มีการปรับเพิ่มไปเมื่อเร็วๆนี้ราวๆ 20 กว่าบาท และมีหลายพรรคการเมืองที่นำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมหาเศรษฐีอีกครั้ง ถือว่า เป็นประโยชน์ไม่คัดค้าน แต่จะเห็นว่า ในการเลือกตั้งปี 62 ก็มีรัฐบาล ที่เคยหาเสียง ว่าจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาท แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล กลับไม่เคยพูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทเลย เพราะฉะนั้นถ้าพูดแบบเบาๆ ถือเป็นการไม่รับถือเป็นการไม่รักษาคำพูดแต่ถ้าพูดแบบแรงๆ ถือว่าเป็นการตระบัดสัตย์" นายชินโชติ กล่าว

นายชินโชติ แสงสังข์ ยังกล่าวถึงตัวเลขสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยปัจจุบันแบ่งเป็นรายงานนอกระบบประมาณ 23 ล้านคน ส่วนรายงานในระบบ ก่อนโควิดมีอยู่ประมาณ 12.5 ล้านคน เหลือเพียงประมาณกว่า 10 ล้านคน

สภาองค์การแรงงานฯ เรียกร้อง 7 ข้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ประกอบด้วย

1. รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

2. ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวง ให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

3. ให้รัฐบาลปฏิรูปแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม

4. ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5. ขอให้รัฐเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจ ได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 รวมถึงการให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติไปแล้วและภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ

6. เพื่อเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

7. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2566 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

 

นอกจากนี้ ทางสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยังเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องในวันแรงงานสากล หรือวันเมย์เดย์ ด้วยเช่นกัน

(อ่านข่าว : ลูกจ้างสธ.ยื่น 6 ข้อวันแรงงาน ขอความเป็นธรรมคนทำงานกระทรวงสาธารณสุข)