ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันแรงงานแห่งชาติ สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย– นักวิชาการ เสนอ นโยบายดูแล-คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ชง 6 พรรคการเมือง Kick-off ดัน “ไรเดอร์” เป็นลูกจ้าง ต้องได้รับสวัสดิการที่เป็นธรรม – ผู้ใช้บริการ ไม่กดดันรอบวิ่ง ลดเครียด ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ 

วันที่ 1 พ.ค. 66 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)  และภาคีเครือข่าย จัดประชุมโครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผลักดันนโยบาย ยื่นข้อเสนอถึงพรรคการเมืองให้แก้ปัญหาสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม พรรคประชาธิปัตย์, นายเอกพร รักความสุข พรรคเพื่อไทย, คุณนาดา ไชยจิตต์ พรรคเสมอภาค, นายเซีย จำปาทอง พรรคก้าวไกล, น.ส.กรกนก คำตา พรรคสามัญชน และนายปิติพงษ์ เต็มเจริญ พรรคเป็นธรรม 

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า “แรงงานนอกระบบ” หรือ “แรงงานอิสระ” เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะมีงานวิชาการพบว่า หลายคนต้องเจอปัญหาสุขภาวะ สุขภาพไม่ดี เวลาทำงานมากเกินไป รายได้ไม่แน่นอน และไม่มีสิทธิสวัสดิการ สสส. ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องในอันดับแรกๆ คือ ความปลอดภัย และการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายแรงงาน เพื่อทำให้มีอำนาจต่อรองกับหน่วยงานต่างๆ และมีเป้าหมายรวบรวมงานวิชาการ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาวะแรงงานนอกระบบ ทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่คมชัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาได้จริง หนึ่งในนั้นคือ “ไรเดอร์” หรือ “พนักงานรับ-ส่งสินค้าและบริการ” อาชีพเกิดใหม่คนนิยมทำเพราะเป็นอาชีพอิสระรายได้ดี ด้านคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจพบว่า ไรเดอร์ต้องทำงานกว่า 10 ชม. ขี่รถรับ-ส่งเฉลี่ย 21 เที่ยว/วัน มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เครียดจากการเร่งรีบ กดดันจากร้านค้า ลูกค้า เจ้าของแพลตฟอร์ม เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลาให้มีรายได้ตามเป้า 

 “การทำให้แรงงานนอกระบบมีสุขภาวะที่ดี เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ปัญหาให้ตรงจุดสำหรับแรงงานกลุ่มนี้  สสส. และ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนในด้านต่างๆ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ สสส. ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันพี่น้องแรงงานทุกคนให้ได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาวะ มีสิทธิ และสวัสดิการอย่างเท่าเทียม” นางภรณี กล่าว
 

นายกฤษฎา บุญชัย เลขาธิการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ต้องการผลักดันนโยบายคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาแรงงานนอกระบบให้สำเร็จ จึงรวบรวมข้อเสนอถึงพรรคการเมืองให้ไปช่วยกันผลักดันและทำให้เป็นจริง เช่น แก้ไขปัญหาให้ไรเดอร์เข้าสู่ระบบลูกจ้างให้ถูกต้อง เพราะมีเจ้าของแพลตฟอร์มเป็นนายจ้างชัดเจน ทำให้เกิดการรับรองเข้าถึงแหล่งเงินทุนกลุ่มแรงงานคืนถิ่น รวมถึงต้องหาแนวทางช่วยกลุ่มแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้านเข้าถึงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ม.33 เสนอให้พรรคการเมืองที่มารับฟัง ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระดับนโยบาย และปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อทำให้เครือข่ายแรงงานนอกระบบมีชีวิตดีขึ้นเทียบเท่าแรงงานทุกคน

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบทุกคนต้องได้รับความคุ้มครอง หากเจ้าของกิจการหรือแพลตฟอร์มได้ประโยชน์จากงานที่พวกเขาทำ อาชีพ “ไรเดอร์” พบปัญหาหลายประเด็น เช่น ค่าตอบแทนน้อย ทำงานหนัก สุขภาพไม่ดี และเสี่ยงอุบัติเหตุ จึงมีข้อเสนอให้แก้ปัญหา 4 แนวทาง 1.ผลักดันให้ไรเดอร์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแพลตฟอร์ม เพื่อมีอำนาจต่อรองด้านสิทธิสวัสดิการ 2.ตั้งสหกรณ์ให้ไรเดอร์ทุกคนเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน มีเงินปันผล 3.บริษัทต้องให้ลูกจ้างร่วมเป็นกรรมการ 1 ใน 3 คน เพื่อให้เกิดการต่อรองที่เป็นธรรม ไม่แบ่งลูกจ้างกับนายจ้าง 4.หากไม่สามารถทำทั้ง 3 ข้อได้ เสนอให้ทำแพลตฟอร์มที่ไรเดอร์เป็นเจ้าของ ดูแลกันเอง เพื่อให้เงินทั้งหมดส่งถึงแรงงานทุกคน 100% ตามรอบวิ่งรับ-ส่ง และชั่วโมงการทำงานที่เป็นจริง