ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.มอบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแก้ปัญหา รพ.เงินบำรุงติดลบกว่า 30 แห่งรวม 1,000 กว่าล้านบาท ยึดนโยบาย “หนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล”   พื้นที่ไหนจำเป็นให้โอนเงินบำรุงจาก รพ.หนึ่งไปยังรพ.หนึ่ง เฉลี่ยความรับผิดชอบ ดูแลซึ่งกันและกัน คาดไตรมาส 3 และ 4 สถานการณ์ดีขึ้น  เผยบริหารเงินติดลบไม่ใช่ความผิด ภาพรวมยังจัดการได้

 

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึงประเด็นเงินบำรุงติดลบ ว่า ได้รับรายงานจากผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่สงสัยว่า รพ.มีเงินติดลบ พบว่า รพ.ขอนแก่น มีเงินติดลบจริง ซึ่งได้มีการอธิบายสาเหตุและแก้ไขแล้ว แต่ขอย้ำว่า เงินบำรุงติดลบไม่ได้มีความผิด แต่เป็นสิ่งที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะไปแก้ไข โดยภาพรวมของประเทศ มีประมาณ 25-35 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งไม่ได้มากถ้าเทียบกับรพ.ในกระทรวงมีประมาณ 1 พันแห่ง อย่างไรก็ตาม ได้มอบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ไปช่วยดู ซึ่งแต่ละแห่งที่มีปัญหาเงินบำรุงติดลบ มีหลายสาเหตุ อย่างบางแห่ง เป็นรพ.ขนาดเล็ก พื้นที่ประชากรน้อย งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ขึ้นกับจำนวนประชากร ทำให้เงินเข้ารพ.น้อยไปด้วย จึงได้มอบให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ไปดำเนินการหาทางออก

รพ.พี่ช่วยน้อง แก้ปัญหารพ.ติดลบ

“โดยให้ยึดนโยบาย “หนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital)  โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหากพิจารณาแล้ว ว่ามีความจำเป็นก็ให้สามารถโอนเงินบำรุงจาก รพ.หนึ่งไปยังรพ.หนึ่ง เป็นการเฉลี่ยความรับผิดชอบ และการดูแลซึ่งกันและกัน แต่จากการคาดการณ์ไตรมาส 3 และ 4 สถานการณ์น่าจะดีขึ้น และเมื่อมีนโยบายช่วยกันดูแลเป็นทั้งจังหวัด ก็ไม่น่าจะทำให้รพ.เล็กๆมีปัญหามาก แต่ก็ต้องดูประสิทธิภาพการเก็บเงินค่ารักษา และการลดค่าใช้จ่ายต่างๆด้วย” ปลัดสธ.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เงินบำรุงติดลบประมาณเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ถ้าเทียบกับภาพรวมเงินบำรุงกระทรวงฯ อยู่ที่แสนกว่าล้านบาท ดังนั้น ถือว่าไม่มากสำหรับการติดลบ เพราะเป็นบางโรงพยาบาล เนื่องจากบางแห่งมีเยอะบางแห่งมีน้อย ภาพรวมจึงจะต้องดูแลกันสำหรับรพ.ติดลบ

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ากรณีช่วงโควิดเงินบำรุงมากขึ้น แต่ทำไมยังมีติดลบบางแห่ง นพ.โอภาส กล่าวว่า นี่เป็นภาพรวม แต่อย่างที่บอกว่า บางรพ.มีประชากรน้อย และอาจมีปัญหาหารายได้ ต้องดูเป็นแห่งๆ ดังนั้น เมื่อเทียบจำนวนรพ.ติดลบกว่า 30 แห่ง เมื่อเทียบพันกว่าแห่งจึงไม่มาก แต่ก็ต้องดูแล และกระทรวงฯ ได้มอบนายแพทย์สาธารณสุขไปดูแล ซึ่งหากรพ.ไหนแก้ไขไม่ได้ ทางกระทรวงฯ จะลงไปดูแลต่อไป

(ข่าวอื่นๆ : สธ.เดินหน้าแก้ปัญหาภาระหนี้สิน "บุคลากรสาธารณสุข" เล็งสถาบันการเงินลดดอกเบี้ย)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org