ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการ นพ.สสจ.-ผู้ตรวจฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป เผยข้อมูล รพ.ศูนย์แห่งหนึ่งเงินบำรุงติดลบ 343 ล้านบาท ลดโอทีพนักงานเหลือ 50 บ.ต่อชม. ให้ตรวจสอบแจ้งความคืบหน้าใน 7 วัน โดยเฉพาะการตัดค่า OT ขัดนโยบายสธ. ทำไม่ได้ เบื้องต้นทราบพื้นที่ แต่ยังบอกไม่ได้ รอตรวจสอบก่อน

 

ตามที่เพจเฟซบุ๊ก สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป โพสต์ข้อความระบุว่า เดือดร้อนถ้วนหน้า!! รพ.ศูนย์ฯ ติดลบ 343 ล้าน สูงสุดในประเทศ ประกาศลด  OT เจ้าพนักงานเหลือ 50 บาทต่อชั่วโมง สร้างความวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เกิดขึ้นว่า เป็นรพ.ใด และเพราะเหตุใดจึงมีการตัดค่าโอทีบุคลากร

ปลัดสธ.สั่งตรวจสอบ รพ.ศูนย์ฯ ตัดเงินโอทีจริงหรือไม่

เมื่อวันที่ 24 เมษายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อมีข้อมูลที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย และทำให้เกิดข้อกังวล โดยเฉพาะเรื่องการตัดเงินค่าโอทีบุคลากร จึงให้ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)  ไปตรวจสอบว่า จริงหรือไม่ หากจริงอยู่ที่ไหน ซึ่งประเด็นไม่ใช่เรื่องหนี้ แต่มีการตัดค่าโอทีจริงหรือไม่ ตรงนี้จะเป็นการขัดนโยบายกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อถามว่าจะมีความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เบื้องต้นมอบให้นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ. ออกหนังสือเป็นทางการ แจ้งทางผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ให้ตรวจสอบ 7 วันรายงานผลกลับมา

เบื้องต้นทราบรพ.ไหนถูกระบุหักเงินโอที ขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

เมื่อถามว่าสั่งการทุกจังหวัดหรือไม่ หรือทราบพื้นที่แล้ว ปลัดสธ. กล่าวว่า ขอไม่เอ่ยชื่อจังหวัด แต่เบื้องต้นมีข้อมูลอยู่ จึงมอบหมายให้ไปตรวจสอบก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้ สธ.เคยให้ข้อมูลว่า ช่วงโควิดเงินบำรุงเพิ่มขึ้น แต่เพราะอะไรจึงบริหารขาดทุน นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆเรื่องรพ.ติดลบไม่ได้เป็นประเด็นกังวล แต่ที่เป็นประเด็นคือ หากติดลบแต่ไปตัดโอที อันนี้ไม่ได้ เพราะผิดนโยบาย จึงต้องไปตรวจสอบก่อนว่าจริงหรือไม่

มีหน่วยงานมอนิเตอร์เงินติดลบ พบมีจริง

“จริงๆเรามีข้อมูลเฝ้าระวังฐานะทางการเงินของแต่ละรพ. เรามีกองงานที่ดูแลเรื่องเฉพาะ มีการมอนิเตอร์ตลอด และได้ให้ทางนพ.สสจ.ติดตาม  ที่ผ่านมาก็พบว่า มีการติดลบบ้าง ซึ่งก็ต้องมาดูว่า ผู้บริหารจัดการอย่างไร หรือมีอะไรผิดปกติหรือไม่ เงินติดลบคือ รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ต้องไปดูว่า รายได้ไปทวงครบหรือไม่ มีการทวงเบิกไปยังสปสช.จนครบหรือไม่ อย่างไร และต้องไปดูว่า รายจ่ายได้จ่ายครบถูกต้องพอสมควรหรือไม่” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีเงินบำรุงติดลบบางแห่งจะมีผลต่อการปรับระดับ SAP หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่น่ามีผลกระทบ เพราะการปรับระดับ คือ ยกคุณภาพการบริหาร และหลายแห่งเรามีความพร้อม บางแห่งเพิ่มอุปกรณ์ไม่มากก็สามารถปรับระดับได้ เช่น ห้องผ่าตัด บางแห่งมีหมอผ่าตัดมากกว่าห้องผ่าตัด จึงต้องให้มีการปรับระบบเพื่อการบริการที่สะดวกที่ดียิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเงินบำรุงยังบวกพอสมควร จึงสามารถนำเงินไปพัฒนาได้เยอะ

“ที่เร่งรัดตอนนี้ คือ การใช้พลังงานโซลาเซลล์ มี 200  แห่งจากรพ. 1พันแห่ง คิดเป็น 20% ประหยัดค่าไฟ 10%  ตรงนี้จะช่วยลดรายจ่าย และเรื่องบ้านพักบุคลากร หลายแห่งบ้านพักเก่า เงินมีแต่บางทีผอ.รพ.ไม่มั่นใจนโยบายก็ย้ำไปแล้วว่า ตรงไหนทรุดโทรมก็ให้ปรับปรุง ตรงไหนเป็นเรือนไม้ก็ให้ดำเนินการให้เหมาะสม” ปลัดสธ.

เมื่อถามว่าสธ.ต้องกำชับหรือไม่ว่า ห้ามตัดค่าโอที นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่ควรไปกำชับแล้ว เพราะเรื่องนี้ต้องทราบว่าเป็นนโยบายกระทรวง แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นที่ไหน ขอให้ไปตรวจสอบก่อน โดยได้สั่งการให้นพ.สสจ.ไปตรวจสอบว่า จริงหรือไม่ หากจริง ก็จะเป็นผู้ตรวจฯ ทุกอย่างจะเป็นลำดับชั้น

(อัปเดตข่าวผลตรวจสอบ : สธ.ตรวจสอบรพ.ขอนแก่น เงินบำรุงติดลบจริง! แต่ไม่ได้ตัดโอที ส่วน รพ.ร้อยเอ็ด เบิกจ่ายถูกต้อง)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org