ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลงพื้นที่ จ.ตาก เยี่ยมชมการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง เพื่อติดตามวิธีการเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิบัตรทองให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พบว่า การมีหน่วยงานศูนย์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสามารถทำให้ประชาชนสามารถสื่อสารกับประชาชนโดยตรง ก่อให้เกิดความรู้-ความเข้าใจในสิทธิประโยชน์บัตรได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566  คณะผู้บริหาร นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขยายเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ รับรู้ และคุ้มครองสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) จ.ตาก ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน บ้านเชียงแก้ว หมู่ 1 ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

นายคุณากร ชาตรีวินิจทอง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเชียงแก้ว หมู่ 1 ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เปิดเผยว่า กว่า 60% ของชาวไทยภูเขาที่อยู่ในพื้นที่บ้านเชียงแก้ว หมู่ 1 ทราบว่าตัวเองมีสิทธิบัตรทอง ส่วนอีก 40% ไม่ทราบ โดยกลุ่มผู้ที่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิบัตรทอง เนื่องจากได้รับแจ้งหลังจากเข้าไปรับการรักษาพยาบาล ถ้าผู้ใดไม่ได้ไปรักษาก็จะไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิบัตรทอง เพราะเข้าไม่ถึงสื่อหรือข้อมูลความรู้สิทธิการรักษาพยาบาลจากช่องทางอื่น อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้า และไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึง

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วชาวไทยภูเขาในพื้นที่ ต.แม่สอง หากเกิดการเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไปก็เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต. แม่สอง) แต่ถ้าเจ็บป่วยหนักต้องไปโรงพยาบาลท่าสองยาง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ทางสัญจรเป็นภูเขาสูงต้องใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง เสียค่ารถในการเดินทางไป-กลับ 100 บาท เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมา 
 
“ตอนนี้ในพื้นที่พบผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน จำนวน 3 ครัวเรือน ทั้งที่เป็นชาวไทยภูเขาที่ไม่ได้แจ้งเกิดบุตร และชาวไทยดั้งเดิมที่ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ไม่สามารถลงทะเบียนสิทธิบัตรทองได้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง แต่เมื่อได้รับทราบว่า สปสช. มีแนวทางที่จะประสานช่วยเหลือให้บุคคลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิสถานะ ก็เห็นเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ลูกบ้านได้รับสิทธิในฐานะที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยเช่นกัน” นายคุณากร กล่าว 


 
ทางด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การรับรู้และเข้าใจสิทธิบัตรทองของประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนดไว้ได้อย่างถูกต้อง ตลอดระยะเวลา 20 ปีของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการพัฒนาเรื่องของสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องทุกปี แต่การมีสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นจะมีปัญหาที่ตามมาคือ ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทาง สปสช. มีความพยายามประชาสัมพันธ์ทางช่องทางต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งหากเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ห่างไกลก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แต่ประเทศไทยยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ห่างไกลเป็นอย่างมาก เช่น อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งมีความยากลำบากในทางการเดินทาง สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง อีกทั้งยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้โอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลสิทธิประโยชน์นั้นเป็นไปได้ยาก
 
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายภาคีภาคประชาชนได้ร่วมกับ สปสช. ได้ตั้งศูนย์ประสานหลักประกันสุขภาพประชาชนซึ่งดำเนินการโดยภาคประชาชนเพื่อเข้ามาดูแลในเรื่องของการเข้าถึงสิทธิ โดยการออกไปให้ความรู้ และประสานช่วยเหลือกรณีประชาชนเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลแล้วมีปัญหาอุปสรรค 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การทำงานในพื้นที่ห่างไกลที่ ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง ที่ส่วนใหญ่ประชากรเป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่าปกาเกอะญอ ทางศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 50(5) จ.ตาก ได้เข้ามามีบทบาทขยายการรับรู้สิทธิบัตรทองให้กับชาวไทยภูเขาในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ได้รับการลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง แต่อาจมีบางส่วนที่สถานะทางทะเบียนตกหล่น จำนวน 3 ครัวเรือน 

 
“แน่นอนว่าวิธีนี้เป็นทางออกที่ดี ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิบัตรทอง เพราะการใช้วิธีการให้ประชาชนสื่อสารกับประชาชนด้วยกันจะเกิดความเข้าใจและเกิดความเชื่อมโยงกันระหว่างภาคเครือข่ายประชาชนกับท้องถิ่นที่ง่ายมากกว่า” ทพ.อรรถพร กล่าว
 

ขณะที่ นางศิวะพร คงทรัพย์ ประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50(5) จ.ตาก กล่าวถึงการทำหน้าที่ของเครือข่ายประชาชนว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของศูนย์ประสานงานฯ และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ดำเนินงานร่วมกับ สปสช. ในการให้ความรู้สิทธิประโยชน์บัตรทอง และรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการรับบริการสาธารณสุข รวมถึงมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านอื่นๆ ศูนย์ฯ จ.ตาก มีส่วนร่วมประสานผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในกลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากด้วย กิจกรรมครั้งนี้มีทั้งการจัดเวทีให้ความรู้สิทธิบัตรทอง เคาะประตูบ้าน แจกแผ่นพับ แนะนำแอปพลิเคชัน สปสช. คัดกรองสุขภาพเบื้องต้น โดยบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่
 
“เนื่องด้วยจังหวัดตากเป็นพื้นที่ชายแดน สภาพพื้นที่มีความห่างไกลอยู่บนภูเขาสูง มีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์สิทธิบัตรทอง ทางศูนย์ประสานงานฯ จึงพูดคุยกับแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางสร้างการรับรู้สิทธิบัตรทองให้กับชาวไทยภูเขา ซึ่งถือเป็นคนไทยเช่นเดียวกันที่จะต้องได้รับบริการสาธารณสุขที่รัฐจัดให้โดยเสมอภาค” นางศิวะพร กล่าว