ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์ยันโควิด “FU.1”  หลานของ XBB.1.16 ยังไม่มีข้อมูลรุนแรงด้านกรมควบคุมโรคเฝ้าระวังติดเชื้อในเด็ก ห่วงสุดเด็กนำเชื้อแพร่ผู้สูงอายุที่บ้าน ขอให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ย้ำเด็กป่วยไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน อยู่ที่มาตรการโรงเรียนแยกเรียน หนือเรียนออนไลน์  ชี้กินอาหาร หนึ่งในปัจจัยเสี่ยง บุฟเฟต์ต้องระวัง

 

เชื้อโควิด “FU.1” หรือ XBB.1.16.1.1 หลานของ XBB.1.16 ยังไม่พบความรุนแรง

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประสานความร่วมมือเฝ้าติดตาม “FU.1” หรือ XBB.1.16.1.1 หลานของ XBB.1.16  ซึ่งพบมีความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50% โดยไทยพบแล้ว 1 คนว่า เป็นข้อมูลที่กรมวิทย์ฯ รายงานเข้าสู่ฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID  ซึ่งกรมมีการติดตามและสุ่มตรวจถอดรหัสสายพันธ์ุอยู่ต่อเนื่อง เท่าที่ติดตามแม้จะมีการแพร่ระบาดเร็ว แต่ยังไม่พบความรุนแรงของโรค จนส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตมาก ทั้งนี้การแพร่ระบาดเร็วอาจจะมาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย ทั้งการรวมตัวทำกิจกรรมมากของผู้คนที่มีมากขึ้น รวมถึงคนใส่หน้ากากอนามัยน้อยลง เนื่องจากบางคนก็เห็นว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ไม่อยากให้กังวล เพราะธรรมชาติของไวรัสมีการกลายพันธ์ุ ไปหลายสายพันธ์ุจำนวนมาก กรมยังติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง

 

เปิดเทอมเด็กติดเชื้อโควิดเพิ่ม แต่หากอาการไม่มากไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน ขึ้นกับมาตรการโรงเรียน

ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด19 ว่า ขณะนี้โควิดกำลังขึ้นตามที่เราคาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะโควิด กลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะคนถอดหน้ากาก และมีกิจกรรมกันมากมาย  ประกอบกับภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง เพราะคนฉีดวัคซีนมานาน หลายคนฉีดวัคซีนเกิน1 ปีหลังจากฉีดเข็มสุดท้ายทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่ม

 

ดังนั้น ยังจำเป็นมีมาตรการ อาทิ 1. ต้องการให้คนทุกคนมีภูมิคุ้มกันเรียกว่าสูงเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ต่อเนื่อง แม้ตอนนี้จะเป็นโอมิครอนที่ทำให้มีอาการน้อยก็ตาม แต่ หากภูมิคุ้มกันน้อย และเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อภูมิคุ้มกันไม่พอก็มีโอกาสทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ดังนั้นจึงต้องรณรงค์ต่อเนื่องคนกลุ่มเสี่ยงขอให้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือ แอนติบอดีสำเร็จรูป LAAB 

 

2.กรณีกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนมานานแล้ว หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อติดเชื้อขอให้รีบไปพบแพทย์ ได้รับยาต้านไวรัสืเพื่อรักษาให้ทัน

 

3.เฝ้าระวังต่อเนื่อง ในกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะที่เป็นคัตเตอร์หรือกลุ่มต่างชาติ ซึ่งขณะนี้กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดูแลร่วมกันหากมีคัตเตอร์หรือกลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาก็จะเก็บตัวอย่างเพื่อส่งเชื้อตรวจหาสายพันธุ์ อย่างกรณีชาวต่างชาติได้ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนในการส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาสายพันธุ์เช่นกัน สำหรับตอนนี้โควิดยังเป็นสายพันธุ์ XBB ยังไม่ใช่ตัวใหม่ ซึ่งเราก็ติดตามต่อเนื่อง

 

"วันนี้มีการเปิดเทอมวันแรกดังนั้นกลุ่มเด็กจึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังและคาดว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคได้มีข้อแนะนำผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ไปถึงโรงเรียน หากพบเด็กที่มีอาการก็ขอให้ตรวจATK โดยเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องหยุดเรียนขึ้นอยู่กับมาตรการของโรงเรียนนั้นว่า หากไม่มีอาการมากสามารถแยกห้องเรียน หรือแยกไม่ให้รับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนหรือบุคคลอื่นๆ หากติดเชื้อเป็นกลุ่มก็สามารถแยกห้องในการเรียนการสอนหรือเรียนออนไลน์ได้ อยู่ที่ความเหมาะสมของสถานการณ์และโรงเรียนจะออกมาตรการ" นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การรับประทานอาหารหากเป็นเด็กเล็กก็จะเป็นการมีกิจกรรมเล่นกันก็ทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีรายงานการติดเชื้อเป็นคัตเตอร์ประปรายเข้ามาที่กรมควบคุมโรค ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด อย่างในโรงเรียนก็จะเป็นระดับประถมศึกษา แต่กลุ่มเด็กไม่ได้น่าห่วงมากในเรื่องของความรุนแรงเพราะอาการไม่มากและหายได้ แต่ที่น่าห่วงคือกลุ่มผู้สูงอายุที่เด็กลูกหลานจะนำเชื้อไปติดปู่ย่าตายาย ซึ่งหากกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันหรือฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็จะเสี่ยงอาการรุนแรงและอันตรายได้ดังนั้นหากผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อขอให้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวจะดีที่สุด

 

รับประทานอาหารนอกบ้าน "บุฟเฟต์" ย่อมมีความเสี่ยง แต่เมื่อมีภูมิฯ โดยเฉพาะวัคซีนกระตุ้นช่วยป้องกันรุนแรงได้

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือบุฟเฟ่ต์ต่างๆมีความเสี่ยงด้วยหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้น หากเรามีภูมิคุ้มกันก็จะช่วยเรื่องป้องกันอาการรุนแรงได้