ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสภาเภสัชกรรม เผยขั้นตอนการจ่ายยามีดับเบิลเช็ก ลดเสี่ยงข้อผิดพลาด กรณีจ่ายยาผิดอาจมาจากภาระงานเยอะ บุคลากรไม่เพียงพอ  บางขั้นตอนถูกละเลย ย้ำสถานการณ์จ่ายยาผิดยังไม่เกินเกณฑ์ แนะจ้างพาร์ทไทม์ช่วงเร่งด่วน หรือปรับให้รับยาจากร้านยารอบ รพ.ช่วยลดแออัด ส่วนปมข้อทักท้วงร้านยาจ่ายยา 16 กลุ่มอาการสิทธิบัตรทอง  เตรียมหารือ 3 ฝ่าย

 

นายกสภาเภสัชฯชี้มีระบบดับเบิลเช็กก่อนจ่ายยา ลดความผิดพลาด

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์กรณีข้อห่วงใยหลังจากมีกระแสข่าวว่า บาง รพ.จ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยผิดพลาด  ว่า จริงๆ ปกติกระบวนการจ่ายยา จะมีกำหนดมาตรฐานไว้อยู่ชัดเจน การจ่ายยาที่สำคัญจะต้องมีดับเบิลเช็ก ซ้ำกันอย่างน้อย 2 คน ก่อนจ่ายยาให้ผู้ป่วย ถ้าเป็นระบบปกติ รพ.ที่ไม่มีปัญหา กำลังคนอะไร ถ้าเมื่อไรแพทย์สั่งใช้ยามาแล้ว จะมีเภสัชกรดูใบสั่งแพทย์ เพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่เกี่ยวกับเรื่องยากับผู้ป่วย ถ้ามีจะหารือกับแพทย์ก่อน ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็จะเข้ากระบวนการจัดยา ก็จะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเช็กก่อนว่าจัดถูกต้องหรือไม่ และส่งให้เภสัชกรก่อนส่งผู้ป่วย โดยด่านสุดท้ายก็ต้องเช็กอีกรอบหนึ่ง  จะเช็กความถูกต้องของยา ปริมาณ ขนาดการใช้ยา และคำแนะนำที่จำเป็นที่จะต้องมีเขียนไว้ชัดเจนหรือไม่ เป็นประเด็นที่เภสัชกรจะต้องตรวจสอบก่อนส่งมอบยาให้ผู้ป่วย

ข้อผิดพลาดการจ่ายยา คาดกำลังคนไม่เพียงพอ

"ส่วนที่มีข้อผิดพลาดในการจ่ายยาเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะมีการข้ามขั้นตอน เพราะต้องยอมรับว่า ข้อเท็จจริงเรากำหนดมาตรฐานที่ต้องทำเพื่อป้องกันปัญหา แต่ข้อเท็จจริงบาง รพ.อาจขาดกำลังคน อาจจะมีเจ้าหน้าที่เภสัชกรไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่มา การจ่ายยามีมาตรฐานว่าต้องตรวจสอบและให้ยาผู้ป่วยภายในไม่เกิน 30 นาที ก็ถูกเร่งด้วยเวลาด้วย มิเช่นนั้นผู้ป่วยรอคอยนาน ถ้าผู้ป่วยมามากก็มีโอกาสที่บางครั้งจะเร่งไป และอาจข้ามขั้นตอนบางส่วน อาจเป็นสาเหตุจากสิ่งพวกนี้" ภก.กิตติกล่าว

 

เมื่อถามว่าอย่างกรณีการจ่ายยาน้ำแก้ไอเป็นแชมพู โดยผู้ป่วยระบุว่าเภสัชกรไม่ได้ให้คำแนะนำในการใช้ยา  ภก.กิตติกล่าวว่า จริงๆ หลักการต้องอธิบายการใช้ยากับผู้ป่วย แต่กรณีรับยาต่อเนื่องส่วนใหญ่ก็อาจจะถามว่ายังใช้ยาเดิมหรือไม่ ยังเข้าใจอยู่ไหม ถ้าเข้าใจก็ไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม แต่จริงๆ โดยหลักการต้องเอายาออกมาเช็กเลย แต่เข้าใจว่า รพ.อาจจะผู้ป่วยเยอะก็ดูเพียงฉลาก เข้าใจว่ากรณีนี้มีซองยาและมีตัวยาข้างใน ก็อาจจะแค่ตรวจเช็กซองยาว่าถูกต้อง โดยไม่ได้หยิบตัวขวดออกมาดู แต่ตัวขวดก็เข้าใจว่ามีฉลากชัดเจนว่าเป็นยาภายนอก แต่ผู้ป่วยอาจจะคุ้นเคยว่ารับยาแล้วใช้ตามสั่ง

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงการจ่ายยาผิดจากยากินเป็นยาทา ทั้งที่การจัดเก็บยาภายในห้องยาไม่น่าจะอยู่ใกล้กันจนหยิบผิด  ภก.กิตติกล่าวว่า การจัดยาควรจะต้องแยกส่วน พวกใช้ภายนอก กับยารับประทาน แต่ก็ต้องดูสถานที่ของ รพ.ด้วย สถานที่เล็กอาจจัดแยกแต่ติดกัน ไม่อาจห่างกันได้มาก เพราะยาน้ำก็จะอยู่กลุ่มหนึ่ง ยาเม็ดก็อยู่อีกฟากหนึ่ง แต่โดยหลักต้องจัดแยกกันยาภายนอกกับยาภายใน

รพ.ส่วนใหญ่มีมาตรฐาน HA มีการบันทึกข้อมูลคุณภาพ การผิดพลาดจุดไหน

ถามต่อว่าที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลหรือไม่ว่ามีการจ่ายยาผิดพลาดมากน้อยเพียงใด ภก.กิตติกล่าวว่า จริงๆ มี บ้านเรามีระบบการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (HA) ซึ่งทุก รพ.ส่วนใหญ่จะดำเนินการให้ HA มารับรองคุณภาพทั้งระบบของ รพ. ทั้งระบบยา ระบบแพทย์ ระบบพยาบาลต่างๆ พวกนี้จะมีการบันทึก ถ้ามีการผิดพลาดต้องบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้น และวิเคราะห์สาเหตุมาจากจุดไหนและแก้ไขอย่างไรต้องบันทึกและสรุปไป ส่วนใหญ่ รพ.จะตั้งเป้าความคลาดเคลื่อน ไม่เกิน 0.05 ต่อพันผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะไม่ถึงเกณฑ์พวกนี้ แต่ก็ต้องไปดูว่ามีความคลาดเคลื่อนการจ่ายยาขนาดไหน เาะมีการจัดระดับความรุนแรงของความคลาดเคลื่อนด้วย ว่าส่งผลกับผู้ป่วยอย่างไร

รพ.ขนาดใหญ่ ภาระงานเยอะ เภสัชไม่พอ ยิ่งช่วงเวลาเร่งด่วนยิ่งเป็นปัญหา

ถามว่าการจ่ายยาผิดส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรไม่เพียงพอหรือไม่ ทำให้มีภาระงานมากและเกิดความผิดพลาด ภก.กิตติกล่าวว่า อย่างที่บอกเรามีการกำหนดมาตรฐานกระบวนการจ่ายยาอย่างน้อยมี 33 จุดที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนที่เริ่มกระบวนการ สำคัญคือแต่ละ รพ.มีเภสัชกรเพียงพอหรือไม่ ขนาด รพ.ใหญ่บุคลากรยังไม่เพียงพอ เพราะคนไข้เยอะมากไม่เพียงพอกับเภสัชกรที่มีและช่วงเวลาเร่งด่วนอาจจะเกิดการละเลยบางจุดไป ถามว่าตอนนี้เภสัชกรในระบบเพียงพอหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ให้มีการคำนวณกรอบกำลังคนตามภาระงาน (FTE) ซึ่งตามคำนวณจะใช้มาตรฐานว่าการทำงานแต่ละเรื่องใช้เวลาเท่าไรและคำนวณเป็นคนออกมา แต่ทุกรอบที่คำนวณ เช่น ต้องการกำลังคนเภสัชประมาณหมื่นคน ก็จะถูกต่อรองเหลือ 7-8 พันคน เราก็เข้าใจเรื่องกำลังคนภาครัฐอาจไม่ได้ตามที่ต้องการทั้งหมด เพราะบุคลากรใน รพ.มีวิชาชีพทุกวิชาชีพก็ต้องการกำลังคนทั้งหมด หากได้ตามคำนวณทุกวิชาชีพ กรอบก็คงใหญ่โตมาก

 

สภาเภสัชกรรมเสนอกรอบอัตรากำลัง 1 หมื่นคน แต่ปัจจุบันมีเพียง 9 พันคน

"เนื่องจากภาระงานเยอะ ผู้ป่วยเยอะมาก ทำให้กำลังคนไม่ค่อยเพียงพอ อย่างที่เราเสนอเมื่อ 5-6 ปีก่อน เราเสนอกรอบไปประมาณ 1 หมื่นกว่าคน แต่ปัจจุบันเรายังมีไม่ถึงเลย ประมาณ 9 พันคน ซึ่งการบรรจุไม่ง่ายอย่างที่ต้องการ ต้องขอจาก ก.พ. บางทีก็ไม่อนุมัติอัตรากำลังใหม่ให้" ภก.กิตติกล่าว

หากเพิ่มกำลังคนไม่ได้ ต้องจัดการเสริมกำลังคนในช่วงเร่งด่วน

ถามว่าการใช้ระบบออกใบสั่งแพทย์แล้วไปรับยาจากร้านยาภายนอกจะช่วยลดภาระงานและความแออัดลงได้มากน้อยแค่ไหน  ภก.กิตติกล่าวว่า ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สภาเภสัชกรรมพยายามเสนอว่า ถ้าไม่สามารถหากำลังคนได้ตามที่กำหนดในเรื่องงบประมาณอะไรก็ตามเราเข้าใจ แต่ที่ช่วยได้คือหากรู้ว่าช่วงเร่งด่วนอยู่ช่วงไหน ก็อาจจะต้องเสริมคนยังไงเข้าไป อาจจัดลำดับความสำคัญเอาตรงงานอื่นมาช่วยตรงการจ่ายยาก่อน แต่จริงๆ ทุกงานก็มีภาระงานอยู่แล้ว ไม่งั้นก็ต้องจ้างพาร์ทไทม์มาเสริมในบางช่วง ถ้าเป็นไปได้เราบอกว่าระยะยาวน่าจะประสานกับร้านยารอบข้าง ส่งใบสั่งไปจ่ายยาข้างนอก ก็เท่ากับเสริมกำลังคนก็ได้เภสัชกรมาช่วยอีกคน ถ้าเรามีร้านรอบข้างสักสิบร้านก็ได้เภสัชกรมาช่วยสิบคนในการทำงาน จะลดความแออัด ถ้าไม่มีภาระเยอะหรือแออัดมาก ความคลาดเคลื่อนก็จะไม่มาก

ยืนยันไม่ได้ก้าวล่วงวิชาชีพปมจ่ายยา 16 อาการสิทธิบัตรทอง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการจ่ายยา 16 กลุ่มอาการของสิทธิบัตรทองโดยร้านยา แต่มีการทักท้วงว่าอาจขัดกับหลักวิชาชีพแพทย์ในการเรื่องวินิจฉัยโรค โดยให้มีการหารือระหว่าง สปสช. แพทยสภา สภาเภสัชกรรม มีการหารือออกมาเป็นอย่างไร  ภก.กิตติกล่าวว่า ทางแพทย์ตีความว่าไปก้าวล่วงวิชาชีพเวชกรรมว่าเราซักประวัติเท่ากับเราวินิจฉัยโรค สภาฯ เรายืนยันว่าไม่ได้วินิจฉัยโรค แต่ซักประวัติเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการตามที่แจ้งหรือไม่ และรักษาตามอาการเบื้องต้น ถ้า 2-3 วันไม่ดีขึ้นอาจส่งต่อหาแพทย์เพื่อให้ดูแลรักษาตามที่ต้องการ แต่ปกติเรารู้ว่าผู้ป่วยมีอาการป่วยเบื้องต้นที่ดูแลตัวเอง 70-80% ก็รักษาตัวเองและหายได้

 

"เรายืนยันว่าเราไม่ได้ก้าวล่วงเรื่องวินิจฉัย เราแค่ซักประวัติและรักษาตามอาการ ซึ่งก็ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ยา ที่ร้านยาสามารถจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้ ยกเว้นยาควบคุมพิเศษที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากแพทยสภาเขาร้องไปที่กฤษฎีกาซึ่งเขาไม่รับตีความเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพในแต่ละสาขาตามกฎหมายของตัวเอง เราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ถ้าแพทย์อ้างว่ากลัวผู้ป่วยมีอันตราย บางอาการอาจแยกยาก กฤษฎีกาก็แนะนำให้หารือกันดีกว่า ว่าส่วนไหนขอบเขตแค่ไหนควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งล่าสุดทางนายกแพทยสภาก็ชวนหารืออยู่ก็แบบนี้" ภก.กิตติกล่าว

สปสช.ตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย

ภก.กิตติกล่าวว่า ตอนนี้ สปสช.ก็ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย มีคณะชุดหนึ่งช่วยกันทำคู่มือการดูแลอาการเบื้องต้นให้ถูกต้องเหมาะสมร่วมกัน ก็จะคุยกันว่าประเด็นไหนที่แพทย์เป็นห่วง เภสัชกรคิดอย่างไร จะระวังอย่างไร ตรงไหนไม่ควร ตรงไหนควรส่งแพทย์เลย จะหารืออีกทีในคณะทำงาน ซึ่งจริงๆ ตอนนี้เรามีคู่มือการดูแล 16 กลุ่มอาการ ก็เท่ากับว่าได้ไปทบทวนด้วย เท่าที่ทราบก็จะมีการดูอาการอย่างอื่นเพิ่มเติมที่คิดว่าประชาชนน่าจะดูแลตนเองได้และเภสัชกรช่วยดูแลประชาชนได้จะได้ไม่ไปแออัดที่ รพ.

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org