ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตเผยปัญหา “หมอลาออก” ปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ต้องแก้ไขเชิงระบบ แต่จิตวิทยาความเหลื่อมล้ำใน รพ. เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่แก้ไขได้ง่ายที่สุด ช่วยแพทย์ใช้ทุนลดความรู้สึกถูกเอาเปรียบ  เพราะความเครียด กดดัน ไม่อยากทำงานเสียยิ่งกว่าภาระงาน ยิ่งรุ่นพี่บางคนสื่อสารไม่ดี ยิ่งซ้ำเติมปัญหามากขึ้น

 

 

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางแก้ปัญหา “หมอลาออก” ว่า แท้จริงแล้วควรแก้ที่จุดใด อาจไม่ใช่แค่การผลิตแพทย์เพิ่มเท่านั้น แต่การจัดการเรื่องภาระงาน ค่าตอบแทน การกระจายตัวของแพทย์ไปยังจังหวัดต่างๆอย่างเหมาะสมก็มีความจำเป็น โดยต้องทำควบคู่กันไปด้วยนั้น

 

เมื่อเร็วๆนี้ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้โพสต์เฟซบุ๊กกรณี “จิตวิทยาความเหลื่อมล้ำกรณีแพทย์ใช้ทุนลาออก”

 

การลาออกของแพทย์ใช้ทุนมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งภาระงานหนัก การกระจายแพทย์ในต่างจังหวัดต่ำ การขยายตัวของรพ.และคลีนิกเอกชน ฯลฯ การแก้ไขเชิงระบบจึงมีความสำคัญ เต่บทความนี้ จะขอเจาะลึกในเชิงจิตวิทยาของความเหลื่อมล้ำในรพ. ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่แก้ได้ง่ายที่สุด

 

ที่เสนอเรื่องนี้เพราะแพทย์รุ่นเก่าคงอดคิดไม่ได้ว่า สมัยตนเป็นแพทย์ใช้ทุนก็ทำงานหนัก(กว่าปัจจุบันเสียอีก) แต่ก็ยังอยู่ได้ ทำให้รู้สึกว่าแพทย์รุ่นใหม่รักสบาย ขาดความอดทน แต่อันที่จริงเราต้องไม่ลืมว่า ในสมัยนั้นทั้งแพทย์และแพทย์ใช้ทุนล้วนลำบากด้วยกัน คงามรู้สึกจึงเป็นด้านบวกว่าได้ทำงานเสียสละเพื่อคนไข้

 

ปัญหาจากความเหลื่อมล้ำแพทย์ใช้ทุนทำงานหนัก รู้สึกถูกเอาเปรียบ

 

แต่ในปัจจุบันรพ.ที่มีปัญหา เกิดจากความเหลื่อมล้ำที่แพทย์ใช้ทุนทำงานหนัก แต่แพทย์ประจำทำงานสบายกว่า เป็นความเหลื่อมล้ำในการทำงานและความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นอีกประเภทหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ นอกจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบนี่เองที่ทำให้เกิดความเครียด รู้สึกกดดัน ไม่อยากทำงานเสียยิ่งกว่าตัวภาระงาน ซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นจากการสื่อสารของรุ่นพี่(บางคน) ที่ตำหนิต่อว่าแพทย์ใช้ทุน ยิ่งมีกระแสจากสื่อสังคมกระพือให้ความรู้สึกเหล่านี้รุนแรงขึ้น

 

แก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุดอยู่ที่ “ผอ.รพ.-องค์กรแพทย์” ต้องมาช่วยแบ่งเบาภาระ

การลาออกมักเกิดขึ้นในรพ.ขนาดใหญ่ ที่มีแพทย์จำนวนมากและมีความแตกต่างในการทำงานสูง ในมุมกลับกัน ถึงแม้จะเป็นรพ.ขนาดใหญ่ แต่มีผู้บริหารและองค์กรแพทย์ที่พยายามเข้ามาดูแลแพทย์ใช้ทุน มีการรับฟังและสื่อสารด้วยมิตรไมตรีต่อกัน กลับไม่ค่อยมีปัญหาการลาออก 

การแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุดจึงอยู่ที่ผอ.รพ.และองค์กรแพทย์ จะต้องเข้ามาดูแลแบ่งเบาภาระงานของน้องๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำและลดความรู้สึกกดดันว่าถูกเอาเปรียบเฉพาะหน้าเราลดผู้ป่วยที่เป็นภาะทางการแพทย์และพยาบาลไม่ได้ เพิ่มบุคคลากรโดยทันทีก็ไม่ได้ แต่ช่วยได้ให้ทุกคนที่ทำงานหนัก มีความรู้สึกที่ดีและได้รับความเป็นธรรม

 

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้เวลามากในการแก้ไข ทำไมเราไม่เริ่มจากจุดที่ง่ายกว่า คือความเหลื่อมล้ำในที่ทำงาน

" คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก"