ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลสำรวจเผยนักศึกษาแพทย์เครียดปานกลางถึงมากที่สุดถึง 97% สาเหตุ "การสอบ-ความกดดันจากอาจารย์-ฝึกอบรมหนัก"

บทวิเคราะห์ “ความคิดเห็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย (extern) ต่อหลักสูตร และชีวิตนักศึกษาแพทย์” 

เนื่องจากมีรายงานของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นปัญหาสภาพจิตใจของนักศึกษาแพทย์ และปัจจุบันมีหลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้น สมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป จึงสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้ายช่วงก่อนจบการศึกษา (ก.พ. – มี.ค. 67) ต่อหลักสูตร และชีวิตนักศึกษา มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เข้าเงื่อนไข 138 คน ทั้งที่ศึกษาอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ภาครัฐและเอกชน และศูนย์แพทย์ 

พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ประสบความเครียด โดยประสบความเครียดปานกลางถึงมากที่สุดถึง 97% สาเหตุหลัก คือ การสอบ (91%) รองลงมาคือ ความกดดันจากอาจารย์ การฝึกอบรมที่หนัก ปัญหาอื่นๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง เช่น แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษารุ่นพี่ เพื่อนนักศึกษา บางส่วนเกิดจาก ปัญหาส่วนตัว ครอบครัว และ การเงิน

สำหรับปัญหาที่เกิดจากการสอบ เทียบกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมดแล้วเรียงตามลำดับ ดังนี้ กลัวสอบไม่ผ่าน (87%) สอบถี่เกินไป (43%) ข้อสอบยากเกินไป (42%)  และ กลัวได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อน (26%) เห็นว่าความรู้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือ pure science (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์) จำเป็นต่อแพทยศาสตร์ศึกษา 57% ไม่จำเป็น 43% และ เห็นว่าระบบการเรียนการสอนควรใช้ระบบ Integrated curriculum เป็นระบบหลัก (46%) รองลงมาคือ Problem base learning และ Traditional lecture นักศึกษาที่คิดว่าตนเองมีความรู้ด้านทฤษฎีเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพ 62% ที่คิดว่าตนเองมีทักษะในการทำหัตถการเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพ 56% แต่สำหรับนักศึกษาที่คิดว่าตนเองมีความพร้อมทั้งสองด้าน คือ ด้านทฤษฎีและด้านหัตถการเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพคิดเป็น 43%

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้มีทักษะด้านหัตถการไม่เพียงพอ คือ ไม่มีผู้ป่วยให้ฝึก และหัตถการที่ได้ฝึกน้อย ได้แก่ intercostal drainage, endotracheal intubation, normal labor นอกจากนี้นักศึกษา 88% เห็นว่าการฝึกหัตถการจากหุ่นทดลองมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่ากับการฝึกจากผู้ป่วยจริง นักศึกษา 97% คิดว่าการฝึกงานในฐานะแพทย์เพิ่มพูนทักษะ จะช่วยเพิ่มทักษะ ความรู้ ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพ ความเห็นเพิ่มเติม ได้แก่ คณะแพทย์ (โรงเรียนแพทย์) มีข้อดี คือ วิชาการทันสมัย ภาระงานไม่หนักเกินไป อาจารย์มีหน้าที่สอนโดยตรงไม่ถูกรบกวนด้วยงานตรวจรักษา, ศูนย์แพทย์ (รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป) มีข้อดี คือ ได้ศึกษาผู้ป่วยหลากหลายโรคและอาการ ได้ฝึกหัตถการอย่างเพียงพอ,  ความเห็นเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ทำงานหนักเกินไป ควรลดชั่วโมงการอยู่เวร ถ้าอยู่เวรทั้งคืนควรได้หยุดในวันต่อไป ควรมีวันหยุด (รวมทั้งไม่ต้องราวน์วอร์ด) อย่างน้อย 1 วันต่อ 1-2 สัปดาห์

บทวิเคราะห์

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้ายช่วงก่อนจบการศึกษาได้ผ่านการศึกษามาแล้วเกือบครบหลักสูตรทำให้เห็นภาพรวมของการศึกษาและชีวิตนักศึกษา สามารถนำเสนอประสบการณ์ และความความรู้สึก ได้ตรงกับความเป็นจริงและครอบคลุมมากที่สุด

สาเหตุของความเครียดของนักศึกษาแพทย์เกิดจากการสอบเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อแยกสาเหตุจากการสอบแล้ว พบว่าสาเหตุสำคัญ คือ กลัวสอบไม่ผ่านมิใช่กลัวได้คะแนนสอบน้อยกว่าเพื่อน ดังนั้นการลดความเครียดด้วยการยกเลิกระบบเกรดของบางคณะแพทย์ ควรพิจารณาให้รอบด้าน เพราะอาจทำให้เสียประโยชน์จากระบบเกรด เช่น นักศึกษาใช้เกรดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาของตน นักศึกษาใช้เพื่อนที่มีผลในการเรียนดีเป็นต้นแบบ ใช้เกรดเพื่อทราบข้อดีข้อเสียของตนสำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นแพทย์และเรียนต่อเฉพาะทาง

นักศึกษามองเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ต่อการศึกษา ดังนั้นนักศึกษาจึงควรมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดี ซึ่งอาจดำเนินการโดยมีการสอบคัดเลือกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของผู้สมัครเข้าเรียนอย่างจริงจัง หรือมีหลักสูตรปูพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับนักศึกษา

นักศึกษาประเมินตนเองมีความพร้อมทั้งทางด้านทฤษฎีและทักษะในการทำหัตถการเมื่อจบการศึกษาเพียง 43% ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิตแพทย์เพิ่มจำนวนมากทำให้ทรัพยากรในการผลิต ได้แก่ จำนวนผู้ป่วย จำนวนหัตถการ ไม่เพียงพอ ดังนั้นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์จึงไม่ควรใช้วิธีเพิ่มการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การกระจายแพทย์ การบริหารจัดการแพทย์ภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ

นักศึกษาเห็นว่าการฝึกหัตถการจากหุ่นทดลองมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่ากับการฝึกจากผู้ป่วยจริง ดังนั้นการฝึกฝนหัตถการควรได้รับการฝึกฝนจากผู้ป่วยจริง หุ่นทดลองอาจเป็นเครื่องมือในการเสริมทักษะเท่านั้นไม่ควรใช้ทดแทนการฝึกฝนจากผู้ป่วย

แพทย์จบใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่แพทย์ทุกคนสามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ทุกประเภทตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม กอรปกับหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะช่วยเพิ่มทักษะ ความรู้ ความชำนาญ แต่แพทย์จบใหม่มิได้เข้าโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั้งหมด (ปี 2566 แพทย์จบใหม่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ 7%) ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี และป้องกันแพทย์จบใหม่จากการถูกฟ้องร้อง ร้องเรียน จึงควรสนับสนุนหรือมีมาตรการให้แพทย์จบใหม่ทุกคนเข้าร่วมโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ

หลักสูตรแพทย์ปัจจุบันแม้จะเป็นหลักสูตรแพทย์ 6 ปี กระนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ก็ยังขาดความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพเมื่อจบการศึกษา ดังนั้นการที่แพทยสภาจะอนุมัติหลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ เช่น หลักสูตรแพทย์ 4 ปี หลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา ที่ลดระยะเวลาในการศึกษาลงทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าจะไม่ลดคุณภาพแพทย์ก่อน จึงค่อยอนุมัติหลักสูตรเหล่านั้น