ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คุยกับนักศึกษาแพทย์ กับเส้นทางอาชีพในฝันของหลายคนอาจมองว่ายาก...

"แพทย์" เป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก อย่างที่ผ่านมาในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด แพทย์ได้รับฉายาว่าเป็นนักรบแนวหน้า เพราะความทุ่มเทและความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้ป่วย หลายคนรู้ดีว่าอาชีพแพทย์ต้องใช้ความทุ่มเทและทำงานหนัก หลายคนเลือกเรียนเพราะมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่น 

อีกทั้งเป็นหนึ่งในอาชีพที่นักเรียนหลายคนใฝ่ฝันจะเรียนและจบออกมาได้ทำงานในสายงานนี้  และหลายคนก็รู้ดีว่าการที่จะสอบเพื่อเข้าไปเรียนในคณะแพทย์นั้น ต้องมีการเตรียมตัวและมีความพยายาม  เตรียมความพร้อมตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา เพื่อที่จะสอบเข้าไปเรียนตามความฝันให้ได้ สำนักข่าว Hfocus  ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นางสาวณัฎฐธิดา ผาเจริญ นักศึกษาแพทย์ มธ. ปี 6  โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท รพ .พุทธโสธร และ  นายสาธิต บำรุงศิริ นักศึกษาแพทย์ มธ. ปี 6  โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท รพ .พุทธโสธร ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ในการเข้าเรียนต่อในคณะแพทย์ ตลอดจนแนวทางในการเดินตามฝันให้สำเร็จ

อยากให้เล่าถึงเหตุผลที่เลือกเรียนหมอ...   

นางสาวณัฎฐธิดา : จริงๆวิชาชีพแพทย์ "ถามว่าใครๆก็เป็นได้มั้ย ก็เป็นได้จริง" แต่ว่าเหมือนเราก็จะต้องมีความทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจด้วย เพราะว่าเหมือนคนนอกอาจจะมองว่ามันมีแค่การรักษาทางกายแต่ความจริงแล้วมันมีภาพรวมมากกว่านั้นมีแพทย์หลากหลายสาขาที่สามารถดูแลคนทางกายจิตวิญญาณสังคม จริงๆตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นหมอ แต่ว่าเหมือนมีช่วงชีวิตหนึ่งที่คุณตาป่วยแล้วก็รู้สึกว่าถ้าตอนนั้นเราสามารถช่วยดูแลคุณตาได้เรารู้ว่าเขาเป็นอะไรแล้วเข้าใจเขามากกว่านี้ในตอนนั้น ถ้าเราย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าคงจะดีถ้าเรารู้เราก็ช่วยเขารักษาได้

นายสาธิต : ก็อย่างแรกคืออาชีพแพทย์อย่างที่ทุกคนทราบเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่แค่ทางกายแต่รวมถึงทางด้านจิตใจเพราะป่วยมาคนเราไม่ได้ป่วยแค่ทางกายแต่จิตใจเค้าจะมีความเครียดความกังวลเราก็จะสามารถรักษาให้เขาได้ทั้งทางกายและทางจิตใจ รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นที่แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ "เราแค่มองหาอาชีพที่มั่นคงในหน้าที่การงาน" รวมทั้งเราเองมีพี่ชายเป็นแพทย์ด้วยแล้วก็เหมือนได้เห็นการใช้ชีวิต เหมือนฟังเรื่องเล่าว่าเขารักษาคนไข้แล้วคนไข้รู้สึกตอบรับยังไง ยิ่งทำให้รู้สึกอินในวิชาชีพนี้เพิ่มขึ้น

เคล็ดลับดีๆ ในการเรียน... 

นายสาธิต :  1. พยายามตั้งใจเรียนในห้องให้เข้าใจพร้อมกับคิดตามผู้สอน เมื่อมีข้อสงสัยให้รีบถาม อย่ากลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราไม่รู้ 2. อ่านทบทวนซ้ำในจุดที่ยังไม่เข้าใจ/ยังจำไม่ได้ 3. พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าง่วงควรงีบ หรือนอนก่อน  4. ออกไปท่องเที่ยวชมสถานที่สวยๆ หาของกินอร่อยๆที่ชอบ หรือซื้อของขวัญเล็กๆน้อยให้ตัวเองเพื่อเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิต

นางสาวณัฎฐธิดา : การอ่านทบทวนอีกครั้งหลังจากเรียนในห้องค่ะ หรือการฟังคลิปอาจารย์สอนซ้ำอีกรอบ เหมือนเป็นการย่อยเนื้อหาทำให้เราเข้าใจมันได้มากขึ้น อาจทำสรุปโน้ตสั้นๆให้เข้าใจง่ายแล้วแต่ความถนัด/ความสะดวกของแต่ละคน เวลามาอ่านหรือหาเพิ่มเติมทีหลังจะทำให้หาได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกว่าแต่ละคนควรหาวิธีการอ่านให้เข้ากับตัวเองดีกว่าค่ะ จะได้ไม่ฝืนและจะทำให้เราทำได้ดีกว่าถ้าเราโอเคกับวิธีการนั้นๆ

ความภูมิใจในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...

นายสาธิต : เป็นมหาลัยที่มีประวัติทางการเมืองมายาวนาน รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในรั้วมหาลัยนี้รั้วมหาลัยนี้ให้อิสระในเสรีภาพของนักศึกษาไม่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทั้งในความคิดเห็น และการแต่งกาย แต่ต้องอยู่ในขอบเขต คณะแพทย์ที่นำนโยบายมหาลัยมาปรับใช้ และคอยรับฟังความเห็นของนักศึกษา และนำมาปรับปรุงพัฒนาหลักสูตร สถานที่เรียน และอาจารย์อยู่เสมอ ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆที่ช่วยเหลือสังคม เช่น  กิจกรรมดนตรีบำบัด ค่ายสร้าง ให้เราทุกคนเข้าใจและใกล้กับคำกล่าวที่ว่า  "แพทย์ธรรมศาสตร์ แพทย์ของประชาชน"

สนใจเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านไหน...

นายสาธิต : ด้านแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) เพราะว่าอันนี้ก็จะคล้ายๆกับเรื่องของรักษาโรคทั่วไปแต่ว่าจะเน้นไปทางเยี่ยมบ้านดูแลรักษาเป็นองค์รวมของคนไข้มากกว่า

นางสาวณัฎฐธิดา : ด้านแพทย์สูตินรีเวชศาสตร์  (gynecologist/obstetrician)

ยิ่งตอนนี้มีกระแสข่าวออกมาว่าภาระงานเพิ่มขึ้น กังวลกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นหรือไม่...

นายสาธิต : เรื่องภาระงานก็ต้องกังวลอยู่แล้ว เพราะเหมือนกับว่าเรารับผิดชอบชีวิตคนทั้งคน แล้วถ้าสมมุติว่างานมากไปเราก็อาจจะเหนื่อยกายด้วยแล้วก็อาจจะดูแลคนไข้ได้ไม่ดีมากพอ

นางสาวณัฎฐธิดา : ก็ต้องกังวลอยู่แล้วเพราะเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เเล้วค่ะเหมือนเราที่มีเวลาทั้งวันใน 24 ชั่วโมง แต่รู้สึกว่าการที่มีแพทย์ชนบทเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนในพื้นที่นั้นๆ ไปเรียนเรื่องการแพทย์แล้วก็กลับมาช่วยเหลือคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการรักษามากยิ่งขึ้น "เพราะโอกาสของคนเราไม่เท่ากันใช่ไหม บางคนเขาต้องใช้เงินต้องใช้คนต้องใช้เวลาในการที่จะไปหาหมอทั้งที่บ้านเขาห่างไกล แล้วอาจจะต้องใช้เวลาทั้งวันนั้นในการประกอบอาชีพเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพแต่ถ้าเราเข้าถึงเขามากขึ้นเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้นคุณภาพชีวิตของเขาก็จะดีขึ้น"

อยากให้ฝากถึงคนที่อยากเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์หรือแต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าเรียนดีไหม... 

นายสาธิต : อาชีพแพทย์เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ดีพอๆกับอาชีพ/สายงานอื่นที่เราชอบ เพียงแต่เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละเวลาใช้ในการศึกษาเล่าเรียนเป็นหลัก เพราะเราต้องผู้นำทีมในการรักษา อาจมีช่วงชีวิตที่เราได้พักผ่อนน้อยไปบ้าง ถ้ามีใจในการอยากช่วยเหลือคนอื่น พร้อมจะสละเวลาการพักผ่อน/เหนื่อยในบางช่วงชีวิต ก็เชียร์ให้มาเรียนแพทย์ครับ 

นางสาวณัฎฐธิดา :  รู้สึกว่าจริงๆก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าเขามีความคาดหวังในชีวิตหรือว่ามีเป้าหมายในชีวิตยังไงถ้าเขารู้สึกว่าเขาสามารถเรียนแพทย์ได้คิดว่าโอเคกับอาชีพนี้และทุ่มเทได้ หรือสามารถใช้ชีวิตแบบนี้ได้ ก็คิดว่าควรเลือกเรียนแพทย์ แต่ว่าถ้าคิดว่าไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกับเราก็เลือกอาชีพอื่น