ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

WHO FCTC เปิดจุดแข็งของประเทศไทย ต่อมาตรการควบคุม “ยาสูบ บุหรี่ไฟฟ้า” และอุปสรรคที่ต้องแก้ไขจริงจัง พร้อมชู “ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 อีกภารกิจจับตากลุ่มแทรกแซงนโยบายรัฐ หนุนไทยร่วมสัตยาบันต่อพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย

 

“ผลการประเมินการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาฯ ของประเทศไทยนั้น มีการดำเนินการมากมายที่มีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ที่สำคัญยังพบว่าไทยมีความก้าวหน้าในการควบคุมยาสูบ  มีประสบการณ์มาก  และเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ต่างๆ..”  ดร.เอเดรียนา บลังโก มาร์กิโซ (Dr. Adriana Blanco Marquizo) หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ตอบคำถามกรณีผลการดำเนินงานการควบคุมยาสูบของไทย

เมื่อช่วงวันที่ 12-16 มิถุนายน 2566 ดร.เอเดรียนา และคณะเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) เกี่ยวกับการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาฯ พร้อมทั้งยังประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานควบคุมยาสูบ ทั้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบของประเทศไทย โดยไทยนับเป็นอีกประเทศที่ได้ให้สัตยาบันตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วย การควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ซึ่งเป็นอนุสัญญาฯ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติตามกรอบฯ อย่างเคร่งครัด  

จุดแข็งการควบคุมยาสูบของไทย

ทั้งนี้   ผลการประเมินการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาฯ ของประเทศไทยนั้น จะมีการจัดรายละเอียดเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติต่อไป  โดยดร.เอเดรียนา ได้ให้สัมภาษณ์เบื้องต้น ว่า ไทยมีความก้าวหน้าในการควบคุมยาสูบ โดยประเทศไทยมีประสบการณ์มากมาย และเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ โดยจุดเด่นหรือจุดแข็งของประเทศไทย พบว่า

1.ความมุ่งมั่นจริงจังในการควบคุมยาสูบ เราไม่เห็นประเทศอื่นที่มีเจตจำนงที่ดีแบบนี้ ถือเป็นเจตจำนงที่ดีของประเทศไทย โดยเห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชากรมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ

 

2.ความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เป็นผู้นำเรื่องนี้ในการให้คำมั่นสัญญา ซึ่งจากการพูดคุยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนการดำเนินงานเรื่องนี้

 

3.การทำงานเป็นเครือข่ายหลายภาคส่วนหลายกระทรวง อย่างคณะกรรมการควบคุมยาสูบก็มีหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วนเข้าร่วม เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น และมีการสร้างเสริมการทำงานเครือข่ายระดับชาติและระดับจังหวัด ทั้งนี้ การควบคุมยาสูบไม่ใช่เรื่องสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่ต้องร่วมกันหลายกระทรวงหลายภาคส่วน และเราเห็นความเข็มแข็งของภาคประชาสังคม ที่จะมาช่วยภาคสาธารณสุข

 

4.นโยบายเรื่องภาษีของประเทศไทยที่ค่อนข้างก้าวหน้า ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างมากในการลดการบริโภคยาสูบ ซึ่งภาษีเองก็สร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ ในส่วนนี้ประเทศไทยได้เกินค่าเฉลี่ยเป้าหมาย

 

อุปสรรคในการดำเนินการควบคุมยาสูบของไทย  

 

1.การทำงานหลายภาคส่วน แม้การทำงานร่วมกันหลายหน่วยงานจะเป็นจุดแข็ง แต่ก็ยังมีช่องว่าง คือ การทำงานกับหลายหน่วยงานนั้น อาจจะต้องมีหน่วยงานหลัก และควรมีการประชุมร่วมกันหลายหน่วยงานเพื่อดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับชาติ แต่ต้องลงถึงระดับจังหวัดด้วย เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น

 

2.การเพิ่มภาษี  เรื่องภาษีก็ยังเป็นสิ่งที่ควรต้องปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องของระบบภาษาโดยรวม โดยควรจะต้องมีการปรับภาษีตามอัตราเงินเฟ้อ และคำนึงถึงสุขภาพเป็นสำคัญตามแนวปฏิบัติข้อที่ 6 มาตรการราคาและภาษีของ FCTC ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเก็บภาษียาเส้นในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับบุหรี่ซิกาแรต จึงควรทำอัตราภาษีใหม่ให้เหมาะสมและสมอดคล้อง เพื่อไม่ให้ยาสูบมีราคาที่แตกต่างกันออกไป มิเช่นนั้นคนก็จะหันไปซื้อยาสูบที่ราคาถูกกว่า ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ

 

3.ชาวไร่ยาสูบ ประเทศไทยควรให้การสนับสนุนชาวไร่ยาสูบ ตามมาตรา 17 ในการเปลี่ยนจากการปลูกยาสูบ มาเป็นการปลูกพืชอื่นทดแทน เพื่อความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม ถ้าการปลูกลดน้อยลง ความต้องการบริโภคก็จะลดลงด้วย รวมถึงเป็นการปกป้องตัวชาวไร่ จากการที่ใช้ยาฆ่าแมลงมากขึ้น

4.บุหรี่ไฟฟ้า  ขณะนี้มีแรงกดดันทางภาคเศรษฐกิจในการยกเลิกการห้ามนำเข้าและขาย "บุหรี่ไฟฟ้า" ซึ่งย้ำว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะเห็นว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" มีประโยชน์จนต้องทำให้ถูกกฎหมาย อีกทั้งชัดเจนว่ามีนิโคตินปริมาณสูงที่ส่งผลกระทบสุขภาพของคน อันตราต่อการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่เราเห็นหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเยอะมากขึ้น

ส่วนกรณีประเทศไทยที่มีกระแสอาจจะมีการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายนั้น  ดร.เอเดรียนา กล่าวว่า เมื่อห้ามแล้วควรห้ามเลย ไม่แนะนำให้มีการเปลี่ยนนโยบายกลับมาทำให้ถูกกฎหมาย ส่วนเรื่องว่าจะเก็บภาษีเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะขณะนี้ผู้บริโภคบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น การหวังว่าจะได้ภาษีเป็นกอบเป็นกำจากส่วนนี้ จึงไม่ได้ในตอนนี้ และหากมีการเก็บภาษีมากขึ้นก็หมายความว่า ผู้บริโภคจะมากขึ้นด้วยเช่นกัน การที่มีผู้บริโภคมากขึ้นตรงนี้เป็นกำไรของบริษัทที่จำหน่าย แต่ไม่ใช่กำไรของภาครัฐ ที่ได้ภาษีมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ต้องเสียไปกับการดูแลสุขภาพ

“ หากจะมีการเปลี่ยนมาทำให้ถูกกฎหมายนั้น ขอให้รัฐบาลถามตัวเองว่าอะไรสำคัญกว่ากันสำหรับประชาชน ระหว่างสุขภาพหรือจะเอาเงิน”

ดร.เอเดรียนา กล่าวเพิ่มเติมว่า  อะไรคือหัวใจของประเทศนี้ และการที่จะตัดสินใจอะไรสักอย่างต้องนึกถึงผลลัพธ์ด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ผลลัพธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เรามีผลลัพธ์หลายอย่างหลายด้าน อย่ามองเรื่องเดียวแล้วคิดว่านี่คือดีแล้ว อีกอย่างคือแม้จะอ้างว่าเป็นเรื่องเสรีก็จริง แต่เสรีแบบชีวิตสั้นจะเอาหรือไม่ เสรีแบบเป็นภาระคนอื่นใช่หรือเปล่า สิ่งนี้คือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับประเทศของตัวเองหรือเปล่า เวลาคิดอะไรต้องคิดรอบด้าน และคิดว่าประเทศของเราควรจะไปทางไหน เราจะให้ประโยชน์สาธารณสุขหรือเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ประเทศที่ดีคืออะไรอยากให้คิดเรื่องนี้ ไม่ใช่เสรีทุกอย่างแล้วจะดีเสมอไป ดังนั้น  การที่ทำให้ถูกกฎหมาย อยากให้มองถึงศักยภาพของประเทศด้วยว่าจะสามารถควบคุมได้หรือไม่ เพราะแม้จะแบนบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังมีความยากในการควบคุมสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่หากเปิดให้ถูกกฎหมายการควบคุมก็จะยากยิ่งขึ้น จึงต้องมองศักยภาพของประเทศว่าทำได้หรือไม่

 

5.บุหรี่เถื่อน   เคยมีการนำเสนอของประเทศอื่น พบว่า ถ้าเราภาษีสูงเกินไป เมื่อเราไม่ต้องการลดภาษี แต่ความแตกต่างระหว่างราคาตามแนวพรมแดน ทำให้เกิดบุหรี่เถื่อน และคนหันไปซื้อ เพราะราคาถูกกว่า เนื่องจากประเทศหนึ่งขายบุหรี่ราคาถูก อีกประเทศขายแพง จึงอยากสนับสนุนให้ประเทศไทยให้สัตยาบันต่อพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ซึ่งมีประมาณ 10 ข้อ เช่น มาตรการต่างๆ มาตรการภาษี การควบคุมการผลิต การตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ระบบการตรวจสอบใบอนุญาตในห่วงโซ่อุปทาน จะทำให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์มาจากไหน เข้ามาตลาดได้อย่างไร สำคัญคือมีการตรวจทานทางธุรกิจ มีการร่วมมือกับต่างประเทศ และประเทศใกล้เคียง 

อย่างไรก็ตาม พิธีสารนี้ไม่ได้บังคับหรือจำเป็นว่าต้องปฏิบัติตามทุกอย่าง อาจจะเลือกข้อที่สำคัญในตัวพิธีสารแล้วดำเนินการ หรือต้องมีความพร้อมก่อนแล้วค่อยเข้าร่วม หลายประเทศที่เข้าร่วมก็ยังไม่มีความพร้อม แต่ก็เข้าร่วมและเพื่อให้เกิดการดำเนินงาน

"หากประเทศไทยเข้าร่วมพิธีสาร ก็จะมีอิทธิพลต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคให้เข้าร่วมมาร่วมมือกันเพื่อหยุดบุหรี่เถื่อน ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อเศรษฐกิจในประเทศในการสูญเสียภาษี แต่ยังช่วยลดปัญหาสาธารณสุขด้วย หากเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนการฉีดวัคซีน ไม่ได้แค่ว่าฉีดวัคซีนในประเทศเราแล้วจะปลอดภัย ไม่ป่วย ประเทศข้างเคียงก็ต้องปลอดภัยด้วย พิธีสารนี้จะช่วยให้เกิดากรทำงานร่วมกับประเทศอื่นในการแก้ไขบุหรี่เถื่อน เพราะถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติข้ามพรมแดน" ดร.เอเดรียนากล่าว

 

6.การเฝ้าระวังการแทรกแซงของยาสูบ    ประเทศไทยควรให้ความสำคัญต่อการป้องกันการแทรกแซงโดยอุตสาหกรรมยาสูบตามแนวปฏิบัติข้อ 5.3 ของกรอบอนุสัญญาฯ ทั้งในกลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่มีหน้าที่ในการกำหนดและปฏิบัติตามนโยบายเพื่อการควบคุมยาสูบ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 WHO FCTC ได้มีการมาลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดตั้ง “ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO FCTC”   ซึ่งศูนย์ฯ ที่ตั้งขึ้นนี้จะมีการติดตามการเฝ้าระวังกิจกรรมธุรกิจยาสูบที่จะมีการแทรกแซงนโยบาย มีองค์ความรู้และงานวิจัยต่างๆ ซึ่งในการรายงานการทำตามกรอบอนุสัญญาฯ ทุก 2 ปี จะพบว่าปัญหาหลักของการควบคุมยาสูบ คือ การแทรกแซง วิ่งเต้น การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :  WHO หนุนรัฐบาลใหม่ไทยคงห้ามนำเข้าและขาย “บุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบแบบใหม่ทุกชนิด”