ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผล "การวิจัยทางคลินิกของยาฟ้าทะลายโจร" ในการรักษาโรคโควิดที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ด้าน สวรส. พร้อมหนุนและวางแผนจะดำเนินการเพื่อเป้าหมายที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพงานวิจัยทางคลินิกให้เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม Balloon ชั้น 12 โรงแรมวีกรุงเทพ- เอ็มแกลเลอรี่ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร จัดประชุมในหัวข้อ สรุปบทเรียน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยทางคลินิก : กรณีศึกษาชุดโครงการประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 

การวิจัยทางคลินิกมีความสำคัญอย่างไรต่อการยกระดับยาสมุนไพรไทย รวมทั้งช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศได้อย่างไร...

ดร.ภญ.นพคุณ  ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  กล่าวว่า ในอดีตการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค ใช้องค์ความรู้ที่แพทย์แผนไทยสืบทอดกันมาจากคำสอนหรือคำบอกเล่า ซึ่งเป็นศาสตร์ที่รู้ข้อมูลกันอย่างจำกัดแค่ในวงการแพทย์แผนไทย แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้ยาสมุนไพรไม่ได้มีเพียงแค่แพทย์แผนไทย แต่ขยายไปสู่แพทย์แผนปัจจุบัน รวมทั้งประชาชนที่นำมาใช้ในการดูแลสุขภาพตนเอง และรักษาโรคง่ายๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกในยาสมุนไพร โดยการนำความรู้ของการแพทย์ตะวันตกเข้าไปพิจารณาร่วมด้วย เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพในการรักษาของยาสมุนไพรว่าใช้รักษาโรคหรืออาการอะไรได้บ้าง และใช้ในขนาดเท่าไร มีพิษ มีผลบางเคียง หรือมีข้อห้ามในการใช้อย่างไรบ้าง

เพื่อทำให้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย รวมทั้งประชาชนมีความมั่นใจในการใช้ยาสมุนไพร และสามารถใช้ยาได้ถูกต้องกับโรคและอาการ ตลอดจนส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยามากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการยกระดับยาสมุนไพรไทยสู่การรักษาโรคตามมาตรฐานสากล รวมทั้งควรมีการส่งเสริมให้ใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรคง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการในประเทศได้อีกด้วย

การต่อยอดหรือนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์...

ดร.ภญ.นพคุณ กล่าวว่า โครงการวิจัยกรณีศึกษาชุดโครงการประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมาตรฐานการวิจัยทางคลินิกของยาสมุนไพรไทยบนจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งบทบาทของ สวรส. ในฐานะแหล่งทุนวิจัย จะมีการปรับบทบาทของการเป็นแหล่งทุน โดยจะกำหนดเกณฑ์พิจารณาโครงการที่จะสนับสนุนทุนวิจัยที่มีการพัฒนาบุคลากร การควบคุมคุณภาพโครงการทั้งก่อน ระหว่างและปิดโครงการ ซึ่ง สวรส. วางแผนจะดำเนินการเป็นระยะๆ เพื่อเป้าหมายที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพงานวิจัยทางคลินิกให้เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

 

“ประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด-19”

ด้าน พญ.สุเบญจา พิณสาย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาแบบ Randomized controlled trial โดยรวมคนไข้มาทั้งหมด 969 คน มีเพียง 263 คน ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก พบว่าการใช้ภาพฟ้าทะลายโจรไม่ได้มีผลต่อการป้องกันการเกิดปอดอักเสบ ซึ่งก็คือไม่แตกต่างจากการใช้ยาที่เป็นยาหลอดอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ และการลดตัวไวรัสเองที่ทำให้เกิด Rt pcr ที่ไม่เจอในวันที่ 10 พบว่าไม่แตกต่างกันทั้งกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรและกลุ่มที่ได้รับยาหลอก รวมทั้งด้านอาการต่างๆ เช่น อาการออกซิเจนในเลือด การหายใจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับค่าการอักเสบไม่ได้แตกต่างกันในทั้งสองกลุ่ม

จากการศึกษาพบว่า มีกลุ่มฟ้าทะลายโจรที่มีค่าตับอักเสบขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีระยะสำคัญทางสถิติ แต่ไม่ได้มีผลสูงเกินกว่า 2 เท่า คนไข้ทั้งหมดอาการตับอักเสบหายไปจากการติดตามทั้งหมด สำหรับประชาชนที่จะนำฟ้าทะลายโจรไปใช้ อาจจะต้องระมัดระวังตั้งแต่เรื่องปฏิกิริยาของยาต่อกัน อย่างเช่น ยาความดัน ยากันชัก ยาละลายลิ่มเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้นเพราะพบว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรอาจจะทำให้เกิดมีภาวะตับอักเสบได้สูงกว่าบุคคลทั่วไปเล็กน้อย ทั้งนี้จำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไปในอนาคต

สำหรับการศึกษานี้เราทำโดยใช้ยาหลอดเทียบกับยาจริง ถือเป็นพื้นฐานการหาความปลอดภัยของยา ซึ่งทั้งหมดกระบวนการในการทำวิจัยของทีมโรงพยาบาลเจ้าพระยาภัยภูเบศร ได้รับการ monitor โดย data setting monitorring ของทีมสวรส.ที่ดูเรื่องความปลอดภัยของการใช้ยาและการทำวิจัยในครั้งนี้ ทั้งนี้ มองว่าการที่มีดีเอสเอ็มบี (DSMB) หรือ การศึกษาวิจัยตามกระบวนการทางจริยธรรมอย่างถูกต้อง ถือว่าเป็นการศึกษาที่น่าเชื่อถือและเป็น standard ในการจะใช้ยาสมุนไพรต่อไปในอนาคต ซึ่งตัวเราเองเป็นหมอรุ่นใหม่ เกิดคำถามว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ หรือถ้าใช้จำเป็นจะต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ความน่าเชื่อถือพอสมควรถึงจะกล้าตัดสินใจใช้ พญ.สุเบญจา กล่าว