ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับกรมอนามัย ขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ในชุมชนและหมู่บ้านทั่วประเทศ  หนุน อสม. เป็นแนวร่วมขับเคลื่อนติดตามสถานการณ์การเข้าถึงไอโอดีน ผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ท อสม. พร้อมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลือกใช้เกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือน 

วันนี้ 27 มิถุนายน 2566 ณ โถงอาคารชั้น 1 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยผู้แทนจาก ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้แทนชมรม อสม.แห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือระหว่าง กรม สบส.และกรมอนามัย ในการส่งเสริม สนับสนุน พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุม และป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในชุมชน/หมู่บ้านทั่วประเทศ เน้นในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงรณรงค์สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ให้ประชาชนในการเลือกบริโภคเกลือไอโอดีนในครัวเรือน โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

 

นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า โรคขาดสารไอโอดีนมีผลกระทบต่อประชากรทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หากได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและทางร่างกายของทารกที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งกระทบต่อการเรียนรู้และการเจริญเติบโตด้านร่างกายของเด็กได้ในอนาคต เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกันและสื่อสารให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ได้รับทราบและเข้าถึงการรับไอโอดีน อสม. ที่ถือเป็นเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพคนในชุมชนมากกว่า 40 ปี จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในชุมชนและหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยติดตามการเข้าถึงยาเม็ดเสริมไอโอดีนในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ท อสม. รวมถึงการขับเคลื่อนชุมชน หมู่บ้านไอโอดีนให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการควบคุม และป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ปี 2565- 2570 ต่อไป

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า อสม. จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรครวมถึงติดตามกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ให้เข้าถึงและได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก พร้อมทั้ง ทำหน้าที่รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่คนในชุมชน ในการเลือกบริโภคเกลือที่เสริมไอโอดีน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนในการปรุงประกอบอาหาร เฝ้าระวังคุณภาพเกลือเสริมไอโอดีน   ในครัวเรือน และเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินชุมชนและหมู่บ้านไอโอดีนทั่วประเทศร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผ่านแพลตฟอร์มไอโอดีน และสมาร์ท อสม. ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นเครื่องมือหลักในการทำงานของ อสม.