ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สสจ.แม่ฮ่องสอน เผยสุ่มตรวจ ATK ผู้ลี้ภัยบ้านพะแข่ อ.ขุนยวม  ตรวจเชื้อเฉพาะคนมีอาการทางเดินหายใจ ไม่ได้ตรวจทั้งหมด พบติดโควิด 10 กว่าราย คิดเป็น 5% ยังไม่พบระบาดเป็นคลัสเตอร์ แยกผู้ติดเชื้อและดูแลรักษาแล้ว ส่วน "มาลาเรีย" พบไม่มาก   

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) แม่ฮ่องสอน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีรายงานข่าวพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 หลังไปเข้าเวรที่ศูนย์พักพิงปลอดภัยจากการสู้รบ  ที่บ้านพะแข่ ต.แม่กิ๊  อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และจะมีการตรวจ ATK ผู้ลี้ภัยทั้งหมดนั้น ว่า เรามีการสุ่มตรวจ ATK อย่างต่อเนื่อง เฉพาะผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจ โดยรวมพบผู้ติดเชื้อประมาณ 10 กว่าราย คิดเป็น 5% ของจำนวนคนที่ตรวจ อย่างเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เราสุ่มตรวจประมาณ 10 กว่าราย พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ซึ่งการติดเชื้อโควิด 10 กว่ารายนั้น ก็เป็นลักษณะการติดเชื้อแบบกระจายๆ กันไป ไม่ได้มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ตรงนี้ยังไม่มี โดยในส่วนของผู้ที่ติดเชื้อก็ได้ให้มีการแยกกักเพื่อดูแลรักษาแล้ว ส่วนใหญ่อาการไม่มาก และได้เน้นย้ำให้ผู้คนในนั้นเรื่องของสุขอนามัยส่วนบุคคล ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฏิบัติงานในศูนย์พักพิงฯ นั้นก็ได้เน้นย้ำให้ป้องกันตัวตามปกติ รักษาระยะห่าง การสวมหน้ากาก ล้างมือ

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์ปัญหาสุขภาพและโรคชายแดนอื่นๆ ในศูนย์พักพิงฯ มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือไม่  นพ.วรัญญูกล่าวว่า โรคติดต่อชายแดนเรามีการคัดกรอง ทั้งมาลาเรียและเท้าช้าง ไม่น่าเป็นประเด็นปัญหา ก็มีพบเชื้อมาลาเรียบ้างไม่มากนัก ซึ่งก็ได้ให้การรักษาตามปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคมาลาเรียมียุงเป็นพาหะ ก็ได้เน้นย้ำให้ผู้คนภายในศูนย์พักพิงฯ  ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดหรือฉีดพ่นฆ่าแมลงทุกสัปดาห์ เป้นกระบวนการดำเนินการตามมาตรการ ส่วนที่น่าจะมีปัญหาคือสุขอนามัย น้ำกินน้ำใช้และขยะ ถ้าเหตุการณ์ไม่ได้ยืดเยื้อก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการจัดการโดยองค์กรเอ็นจีโอและในส่วนของจังหวัด

 

"วันพรุ่งนี้ผมจะขึ้นไปดูในพื้นที่อีกครั้ง เบื้องต้นเรื่องของน้ำกินน้ำใช้น้ำดื่มไม่ค่อยมีปัญหาช่วงระยะสั้น เพราะมีอุปกรณ์กรองน้ำ มีน้ำดื่มบริจาคมาอยู่ แต่ในส่วนของการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม การกำจัดของเสียต่างๆ ก็มีห้องที่ทำไว้ชั่วคราวให้ห่างไกลแหล่งน้ำ หากระยะสั้นไม่น่ามีปัญหามากนัก เพราะปริมาณคนที่ใช้ก็อยู่ในจำนวนที่ควบคุมได้ หากมีความยืดเยื้อระยะยาวขึ้นก้ต้องดูว่าทำอย่างไรให้น้ำดื่มน้ำใช้มีความถาวรมากขึ้น ส่วนอื่นฝ่ายความมั่นคงก็อาจจะต้องปรับจุดพักพิงให้เหมาะสมเพิ่มขึ้น ก็คงดูตามสถานการณ์อีกครั้ง" นพ.วรัญญูกล่าว

 

ถามว่าจำเป็นต้องให้วัคซีนป้องกันโควิดหรือวัคซีนอื่นๆ แก่ผู้พักพิงหรือไม่  นพ.วรัญญูกล่าวว่า ในส่วนของวัคซีนโควิด ถ้าจะดำเนินการก็จะเป็นในส่วนของกลุ่มเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงคือกลุ่ม 608 ส่วนโรคอื่นๆ ตอนนี้ในระยะสั้นคากว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะยังเป็นผู้ที่มาอยู่ในพื้นที่ที่รอกลับบ้าน ถ้าไม่ได้อยู่ระยะยาวการฉีดวัคซีนตรงนี้คงไม่ได้จำเป็น ถ้าเป็นเด็กแรกเกิดที่สมมติมาเกิดตรงนี้ก็จะดำเนินการวัคซีนตามชุดที่ดำเนินการอยู่แล้ว

 

เมื่อถามว่าต้องเน้นย้ำให้ผู้คนในศูนย์ฯ สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโควิดด้วยหรือไม่  นพ.วรัญญูกล่าวว่า ปัจจุบันในเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย ถ้าเป็นลักษณะของมีการระบาดก็อาจจะเพิ่มเติมตรงนั้นเข้าไป แต่ถ้าในเงื่อนไขของการอยู่ที่อาจมีความลำบาก เนื่องด้วยสถานการณ์โรคโควิด 19 ก็ไม่ค่อยรุนแรงก็อาจจะยังไม่มีความจำเป็น แต่หากจะสมัครสวมก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเราก็มีหน้ากากอนามัยทีได้รับบริจาคเข้ามาช่วยดูแลเช่นกัน ถ้าระยะสั้นปริมาณก็น่าจะเพียงพอ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีการสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ยาลดอาการเจ็บปวดต่างๆ เป็นต้น และการเจ็บป่วยทั่วไปเท่าที่ดูก็ไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการระบาดของโรคที่ไม่เคยเจอ