ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลสำรวจพบคนไทยเป็นโรคติดการพนันเพิ่มขึ้น ใช้สารเสพติดมากขึ้น

ผลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ. 2566 โรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น น่าห่วง! โรคแพนิค สูงขึ้นจากร้อยละ 0.2 พ.ศ.2556 เป็นร้อยละ 0.7 โรคติดการพนันเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
 
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 22 ประจำปี 2566 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร สำหรับการประชุมในหัวข้อ ความรุนแรงในคนไทย : การสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ. 2566 ดร.นพ.นพพร ตันติรังสี ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการสำรวจ เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2566 ซึ่งระยะเวลา 3 เดือนก็เพียงพอ เพราะบริบทสังคมไทยเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งหมด 6 ภาค สุ่มพื้นที่ในแต่ละจังหวัด จำนวน 4,161 คน เพศชายร้อยละ 34.4 เพศหญิงร้อยละ 65.6 โดยเปรียบเทียบ พ.ศ.2566 กับ พ.ศ.2556 พบความเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • โรคซึมเศร้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เกิดขึ้นร้อยละ 0.8 สูงกว่าเดิมที่ ร้อยละ 0.6 
  • โรคแพนิค ที่มีผลจากระบบประสาทอัตโนมัติ โดยมีอาการตื่นตระหนกไม่กล้าออกจากบ้าน ตัวเลขน้อยลงกว่าเดิม 1 เท่า แต่โรคแพนิคที่กล้าเข้าสังคม ตัวเลขเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นร้อยละ 0.7 จากเดิมที่ ร้อยละ 0.2
  • โรคทางอารมณ์ทั้งหมดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 0.8 จากเดิมร้อยละ 0.7 

"ผลสำรวจพบคนไทยเป็นโรคติดการพนันเพิ่มขึ้น ใช้สารเสพติดมากขึ้น"

ส่วนโรคที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเหล้าลดลง แต่พบการใช้สารเสพติดเพิ่มมากขึ้น เช่น ก่อความรุนแรงจากการใช้ยาเสพติด เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.8 และโรคติดการพนันเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิมร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.6 สันนิษฐานว่า เกิดจากการพนันออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนความพยายามในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.08 เป็นร้อยละ 0.1 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่นำเสนอจะเป็นไปตามข้อมูลที่เก็บได้ ยังไม่ได้ทำการแปลงข้อมูลโดยใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักเพื่อประมาณการจำนวนประชากรของโรคจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งจะนำส่งสำนักงานสถิติแห่งชาติต่อไป

ด้าน ดร.นพ.อธิบ ตันอารีย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ผลสำรวจในเชิงระบาดวิทยา ยังพบว่า การประสบเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างบุคคลและบาดแผลทางจิตใจ อาจก่อให้เกิดโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) กรมสุขภาพจิต จึงมีแนวทางในการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เมื่อมีการประสบเหตุ พัฒนาโปรแกรมคัดกรองว่า มีอาการตื่นตระหนกมากน้อยแค่ไหน พร้อมกับสำรวจความต้องการพื้นฐานเบื้องต้น และประเมินซ้ำ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เป็นการติดตามอาการ ทั้งนี้ โรค PTSD สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ที่เผชิญกับความรุนแรงโดยตรง ทั้งความรุนแรงภายในครอบครัว การทารุณกรรมตั้งแต่เด็ก และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนวัยผู้ใหญ่มักจะพบปัญหาการถูกคู่สมรสทำร้ายนำไปสู่การหย่าร้าง พบมากที่สุดในผู้หญิงวัยทำงาน ซึ่งสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยได้ ในช่วงต้นที่ประสบเหตุจะพบอาการตื่นตระหนกหรือด้านชาในความรู้สึก หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไป 1-3 เดือน ก็จะเกิดอาการ เช่น

  • หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงหรือไม่ไปในสถานที่เกิดเหตุ
  • คิดถึงเหตุการณ์ซ้ำ ๆ หรือฝันบ่อย ๆ 
  • ตื่นตระหนกตกใจ ระแวดระวังมากกว่าปกติ หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยกับคนทั่วไปที่เข้ามาหา
  • อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และเกิดมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป

ขณะที่ นางวรวรรณ จุฑา นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ สำนักวิชาการสุขภาพจิต กล่าวถึงความผิดปกติการควบคุมตัวเองในคนไทยว่า ลักษณะสำคัญของความผิดปกติการควบคุมตัวเอง คือ ไม่สามารถยับยั้ง หรือควบคุมความอยากในการกระทำใด ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาต่อตนเองและผู้อื่น จัดอยู่ในกลุ่มโรคจิตเวชและความผิดปกติทางพฤติกรรมที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ประกอบด้วย

  1. ความผิดปกติการระเบิดอารมณ์เป็นครั้งคราว
  2. โรคชอบขโมยหรือหยิบฉวย
  3. โรคชอบจุดไฟเผา
  4. โรคติดการพนัน 
  5. โรคชอบถอนผม
  6. ความผิดปกติหมกมุ่นพฤติกรรมทางเพศ
  7. เสพติการซื้อของ
  8. โรคกินไม่หยุด
  9. โรคแกะผิวหนัง
  10. กัดเล็บ

"จากการสำรวจพบว่า โรคติดการพนัน ในคนไทยเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2556 คนเล่นการพนันสูงขึ้นเกือบเท่าตัว และพบโรคร่วมจิตเวชที่เพิ่มสูงขึ้น คือ เรื่องเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ทั้งการคิด วางแผน และพยายามทำ ส่วนโรคอื่น ๆ ที่พบ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคไบโพลาร์" นางวรวรรณ กล่าว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

กรมสุขภาพจิต ชี้คนไทยเครียดเพิ่มขึ้นเท่าตัว ช่วงรอผลเลือกตั้งทางการ แนะวิธีสื่อสารด้วยความเข้าใจ

สายด่วนสุขภาพจิต 1323 พัฒนาระบบจองคิวรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org