ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการประสานเสียง อย่าตัดสินฟ้าทะลายโจร ด้วยงานวิจัยเดียว แนะใช้สติปัญญาอย่าเพิ่งเชื่อใครง่าย  ขณะที่อภัยภูเบศร เผยผลการศึกษาแม้ฟ้าทะลายโจร ไม่ช่วยป้องกันปอดอักเสบ ลดปริมาณเชื้อโควิด แต่พบสารบ่งชี้ค่าการอักเสบลดลง ส่วนคนค่าตับเกิน 2 ราย ยังพบ 1 รายในการศึกษาที่รับยาหลอกมีค่าตับเกินเช่นกัน เมื่อติดตามครบ 28 วันไม่พบค่าตับเกิน

จากกรณี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดผลวิจัย ‘กรณีศึกษาชุดโครงการประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย’ โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างในจังหวัดสระบุรี และปราจีนบุรี พบยาฟ้าทะลายโจรไม่สามารถลดอัตราการเกิดปอดอักเสบหรือลดอาการและลดปริมาณเชื้อไวรัสได้ เมื่อเทียบกับยาหลอกนั้น ได้สร้างความสับสนให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สวรส.เผยผลวิจัย ‘การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด’ )

ฟ้าทะลายโจร พบมีสารบ่งชี้ค่าการอักเสบในเลือดลดลง

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้น ว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีผลการวิจัยเมื่อช่วงกลางปี 2564 ว่า ฟ้าทะลายโจรป้องกันปอดอักเสบ  จึงทำให้มีการศึกษาเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้ ทางรพ.อภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กับทีมวิจัย จ.สระบุรี มาศึกษาวิจัยเพิ่มเติมจนพบว่า ไม่ได้ป้องกันปอดอักเสบ และไม่สามารถลดปริมาณเชื้อโควิดได้ แต่ที่อภัยภูเบศรพบว่ามีสารบ่งชี้ค่าการอักเสบในเลือดที่ลดลง

ภญ.ผกากรอง กล่าวเพิ่มเติมว่า รพ.อภัยภูเบศร ทำการศึกษาตั้งแต่ช่วยเดือนตุลาคม 2564 ส่วนสระบุรีวิจัยธันวาคม 2564  โดยในส่วนของอภัยภูเบศรศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุประมาณ 30-31 ปีจำนวนประมาณ 270 คนกินยาฟ้าทะลายโจรในรูปแบบผงที่มีความเข้มข้นปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน  กินเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มกินฟ้าทะลายโจร  และกลุ่มยาหลอก  โดยไม่มีอาการ 25%  นอกนั้นอาการน้อย ส่วนใหญ่ได้รับยาบรรเทาอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก  โดยหลังจากให้กินฟ้าทะลายโจรก็จะมีเก็บตัวอย่างค่าตับ ค่าไต ตามเวลากำหนด

“ผลศึกษาพบว่า  ไม่ได้ป้องกันปอดอักเสบ ไม่สามารถลดปริมาณเชื้อ แต่พบสารบ่งชี้ค่าการอักเสบในเลือดสัดส่วนที่รุนแรงน้อยกว่า  ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจพลาสมา ที่นำเลือดคนไข้มาตรวจพบว่า มีโปรตีนที่ลดการเกิดลิ่มเลือด แต่สิ่งที่พบต้องค้นหาวิจัยเพิ่มเติม” ภญ.ผกากรอง กล่าว

 

ค่าตับเกินในการศึกษาพบ 2 ราย อีกรายรับยาหลอก แต่ติดตาม 28วัน ไม่พบค่าตับเกิน

ภญ.ผกากรอง กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้น ทั้งสองกลุ่มพบว่า กลุ่มได้รับฟ้าทะลายโจรมีอาการไม่พึงประสงค์สูงกว่าคนได้ยาหลอก แต่ไม่มีนัยสำคัญ ส่วนค่าตับนั้น พบว่าในกลุ่มฟ้าทะลายโจรผู้ป่วยค่าตับสูงกว่ามาตรฐาน 3 เท่ามีอยู่ 2 ราย แต่กลุ่มได้ยาหลอกก็พบค่าตับเกินมาตรฐาน 3 เท่าเช่นกันอีก 1 ราย ซึ่งทั้งสามคนได้ออกจากรพ.ในวันที่ 10 แต่ต่อมาในวันที่ 28 ของการศึกษาได้มาตรวจซ้ำพบ ค่าตับเป็นปกติ  อย่างไรก็ตาม ค่าตับที่สูงขึ้นเราจะดูอาการแสดงทางคลินิก เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง แต่หากค่าตับสูงเกินไป 2-3 เดือนยังไม่ลง ถอนยาแล้วก็ยังไม่ลงก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร 

ยาตัวอื่นๆกินมากย่อมมีผลต่อตับเช่นกัน

ภญ.ผกากรอง กล่าวอีกว่า ฟ้าทะลายโจร ไม่ใช่ว่าไม่มีผลต่อตับ แต่เวลาเราใช้ยาทุกตัว หรือแม้แต่ยาลดไขมันก็พบว่า ทำให้ตับอักเสบได้ แต่เราต้องให้ เพราะไขมันสูงอันตราย ซึ่งผลข้างเคียงไม่ได้เกิดทุกราย และมีมาตรฐานกำกับในการตรวจค่าตับค่าไต ส่วนกรณีฟ้าทะลายโจรนั้น ในส่วนปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์  180 มิลลิกรัม ก็ไม่ได้กินจนถึงขนาดนั้น ก็กินตามอาการได้ อย่างของอภัยภูเบศร 1 แคปซูลมี 12 มิลลิกรัม เมื่อคูณจำนวนวันที่กินจะไม่ถึง 180 มิลลิกรัม จากการติดตามรพ.ที่มีการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรก็พบว่า คนไข้ไม่มีอาการหรือค่าตับเกิน

“ตั้งแต่มีข่าวส่งผลกระทบมาก เพราะมีผู้ประกอบการที่ผลิตฟ้าทะลายโจรก็ต่างสอบถามมาทางรพ.อภัยภูเบศร ว่า ทำไมผลวิจัยออกมาเป็นแบบนี้ บางรพ.มีการคืนยา เพราะข่าวออกมาบอกว่า ไม่ช่วยอะไร มีผลต่อตับ ซึ่งเราก็ต้องสื่อสารให้เข้าใจเรื่องนี้” ภญ.ผกากรอง กล่าว

นักวิชาการประสานเสียงขออย่าตัดสิน หรือด้อยค้า ฟ้าทะลายโจร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20  กรกฎาคมที่ผ่านมา  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเวทีประชุมวิชาการ “สมุนไพรฟ้าทะลายโจรกับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมได้แก่ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ นพ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด ศ.เกียรติคุณพญ.สยมพร ศิรินาวิน  ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและระบาดวิทยาคลินิก ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานกรรมการบริหารฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายธุรการวิทยาศาสตร์ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และดร.ภญ.วิวรรณ วรกุลพาณิชย์ เภสัชกรชำนาญการ กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยฯ โดยมี นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นพ.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวตนดำรงตำแหน่ง รองนพ.สสจ.สระบุรี ซึ่งเป็นผู้วิจัยในโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. โดยยืนยันว่า การศึกษาดังกล่าว อยู่ภายใต้กระบวนการวิจัยทางคลินิกที่เป็นตามมาตรฐานสากล มีการเลือกผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัย โดย จ.สระบุรี มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ 396 คน จ.ปราจีนบุรี 271 คน และมีวิธีการเก็บข้อมูลเหมือนกัน แต่มีการใช้รูปแบบยาที่ต่างกัน โดย จ.สระบุรี ใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ส่วน จ.ปราจีนบุรี ใช้ยาแคปซูลผงบดฟ้าทะลายโจร ที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 5 วัน ส่งผลให้เกิดค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น จึงได้หยุดเก็บข้อมูลพร้อมเสนอให้มีคำเตือนในกรณีที่ใช้ยาฟ้าทะลายโจรควบคู่กับยาชนิดอื่น อาจส่งผลให้เอนไซม์ตับสูงขึ้นได้ ซึ่งยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทั้งความปลอดภัยและประโยชน์ เพื่อให้เกิดการใช้ที่เหมาะสมต่อไป

ดร.วิวรรณ กล่าวว่า จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่ใช้ฟ้าทะลายโจรมีความปลอดภัยสูง และไม่มีรายงานที่ร้ายแรงเลย อันตรายที่อาจพบได้จากการใช้ฟ้าทะลายโจรที่ผู้ป่วยต้องสังเกตคือการแพ้  ที่มีรายงานอยู่บ้างดังนั้นในผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้  จากข้อมูลที่รวบรวมมาจากงานวิจัย 10 ชิ้นและฐานข้อมูล 3 ฐาน พบว่า อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง 100,000 คน พบได้ 2 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับยาต้านไวรัสแผนปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่ 

รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวว่า สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ทำการศึกษาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในทุกแง่มุม ในการใช้ต่อผู้ป่วยทั้งผงบด และสารสกัด มีงานวิจัยถึง 15 ฉบับ รวมถึงได้ศึกษางานวิจัยจากทั่วโลกอีกนับพันฉบับ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ไม่พบว่าฟ้าทะลายโจรมีพิษต่อตับ จะมีเพียงในสแกนดิเนเวียน ที่เตือนให้ระวัง  แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลอย่างเป็นระบบก็พบว่าประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอน เรามีของดีอยู่แล้ว ถ้าเราใช้เป็นก็จะเป็นประโยชน์ อยากฝากไว้ว่า งานวิจัยก็ตอบแค่คำถามวิจัย แต่การนำมาใช้จริงต้องนึกถึงหลายปัจจัย เช่น ในกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด ที่เขาไม่มีเงิน ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นยาที่เข้าถึงได้ง่ายราคาถูกและได้ผล ยาที่กินเข้าไปเรารู้กันอยู่แล้วว่ามันมีผลต่อร่างกายทั้งบวกและลบ  แต่ถ้าประโยชน์มากกว่า ใช้อย่างเหมาะสมก็ไม่ต้องกังวล และต้องมีการศึกษายาที่ใช้ควบคู่กับฟ้าทะลายโจรด้วย ว่าส่งผลต่อค่าตับด้วยไหมและสื่อสารทั้งสองด้าน

เจ็บปวดเมื่อฟ้าทะลายโจร ถูกด้อยค่า

ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกเจ็บปวด เพราะอยู่กับฟ้าทะลายโจรมานานและใช้กับผู้ป่วยมาตั้งแต่ ไข้หวัดสายพันธุ์ 2009 หรืออีโบลา ไม่ว่าจะเกิดโรคอุบัติใหม่อะไรที่เกี่ยวข้องกับไวรัส ฟ้าทะลายโจรจะถูกนำมาใช้หมด จึงได้เริ่มศึกษาวิจัย ทบทวนวรรณกรรมจากทั่วโลก และใช้ประสบการณ์ส่วนตัวที่คลุกคลีกับชาวบ้านที่ใช้มาโดยตลอด ในช่วงที่เกิดโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีวัคซีนตนเองก็ได้รวบรวมข้อมูลเสนอให้โรงพยาบาลนำฟ้าทะลายโจรมาใช้  เมื่อเปรียบเทียบกับราคายาแผนปัจจุบันพบว่ามันต่างกันมากจริงๆ ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ราคา 80-150 บาท/คอร์สการรักษา ส่วนแผนปัจจุบันมี ฟาวิพิราเวียร์ ราคา 2,000-5,000 บาท/คอร์สการรักษา  ถ้าเรารวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและนำมาใช้ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประเทศได้มากทีเดียว

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรในประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีหลายสายพันธุ์มากและเรากำลังจะเป็นเจ้ายุทธจักรในเรื่องนี้ ที่ผ่านมามีการทำวิจัยในหลายแขนง ทั้งในเรื่องภูมิคุ้มกัน และลดปอดอักเสบจากคนไข้ในช่วงที่ไม่ได้วัคซีนที่คนไข้รอตรวจ รอเตียง รอตาย ชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงยาก็คว้าฟ้าทะลายโจรมารักษาและก็ช่วยได้จริง เชื่อว่าวันนี้มีคนไข้จำนวนมากที่สามารถแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวให้เราได้   จากประสบการณ์ของอภัยภูเบศรที่สนับสนุนยาฟ้าทะลายโจรในช่วงสถานการณ์โควิด ก็ไม่มีใครเสียชีวิต  โดยส่วนตัวจึงขอสรุปว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นอาวุธของประชาชน ในการรับมือโรคอุบัติใหม่

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณพญ.สยมพร กล่าวเตือนว่าคนที่มีความรู้ มีปัญญา อย่าไปตัดสินใครในงานวิจัยเพียงชิ้นเดียว ใครบอกอะไรอย่าไปเชื่อในทันที เพราะกระบวนการวิจัยมีขั้นตอนอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตั้งคำถามซึ่งเป็นจุดตั้งต้นในการทำวิจัย หลังจากนั้นการออกแบบการวิจัยเพื่อมาตอบโจทย์ก็ต้องเหมาะสม ตัวอย่างในงานวิจัยนี้ เราสนใจความปลอดภัยของตับ ดังนั้นเราควรดูว่ามีผู้ป่วยกี่รายที่ได้ยาแล้วค่าเอนไซม์สูงกว่ามาตรฐาน และมีกี่รายที่มีอาการที่แสดงถึงความผิดปกติของตับ ซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่าที่จะไปนำค่าเอนไซม์ตับมาหารเฉลี่ยกัน  เพราะในทางคลินิกเรารู้กันอยู่ว่าค่าตับมันขึ้นๆ ลงๆได้ แต่ควรต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ประเด็นการนำไปใช้ต้องมีคำแนะนำที่เหมาะสมกับบริบท จะมาบอกว่าอย่าใช้เลยไม่มีประโยชน์ไม่ได้ เพราะในทางปฏิบัติผู้ป่วยก็มีอาการแตกต่างกันไป  การวิจัยก่อนหน้าก็บอกว่าใช้บรรเทาอาการ ลดความรุนแรงได้  แล้วเราจะปิดกั้นการใช้ประโยชน์ของผู้ป่วยจากผลของการวิจัยเดียว เช่นนี้หรือ ส่วนตัวแล้วทำงานวิจัยมามาก เราดูข้อมูลครบถ้วนและสื่อสารชัดเจน

ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์แผนไทยฯ แถลงชัด “ฟ้าทะลายโจร” ใช้ได้ผลทั้ง “โควิดและไข้หวัดใหญ่”