ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรม สวทช. และ สปสช. ลงนามความร่วมมือ “นำเทคโนโลยี A-MED Care พัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรม” มุ่งยกระดับร้านยาชุมชนอบอุ่น สู่การบริการวิถีชีวิตใหม่ เพิ่มความสะดวก เข้าถึงบริการ ดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง

ที่อาคารมหิตลาธิเบศร สภาเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข – เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 สภาเภสัชกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมลงนามความร่วมมือ “นำเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบบริการด้านเภสัชกรรม” สู่การให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ 
 
รศ.พิเศษ ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เภสัชกรประจำร้านยาได้มีบทบาทร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งในรูปแบบบริการ Home Isolation และโครงการ เจอ แจก จบ (Self-isolation) ซึ่งมีประชาชนที่ติดเชื้อโควิดได้รับการดูแลกว่า 60,000 คน ด้วยการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย พร้อมการติดตามอาการหลังจากรับบริการ 3 วันแล้ว ได้สร้างความพึงพอใจต่อบริการให้กับประชาชน ซึ่งร้านยานี้ได้ร่วมเป็นหน่วยร่วมบริการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ที่ต้องผ่านหลักเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานร้านยาและบริการทั้งของสภาเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.
 
ทั้งนี้ การให้บริการของร้านยาชุมชนอบอุ่นในช่วงดังกล่าว ได้เริ่มนำระบบ A-MED Care Pharma ที่พัฒนาโดย สวทช. มาใช้ เพื่อช่วยจัดการการเบิกจ่ายค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และในปี 2566 ยังได้มี “โครงการร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” หรือ common illnesses โดยในช่วง 9 เดือน มีประชาชนรับบริการเกือบ 2 แสนคน นอกจากนี้ยังมีโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน เพื่อลดความแออัดที่อยู่ระหว่างดำเนินการโมเดล 3 ด้วยการใช้ระบบ e-prescription (ใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์) โดยจะมีนำระบบ A-MED Care มาใช้ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายเป็นระบบเดียวกัน

   
  
“การปรับตัวสู่บริการร้านยาวิถีใหม่ ถือเป็นความท้าทายวิชาชีพเภสัชกร จำเป็นต้องพัฒนาการบริการ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยี A-MED Care เพื่อเชื่อมโยง ประมวลผล และบริหารจัดการ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของร้านยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว 

 


 
ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีเป้าหมายในการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างฐานรากเทคโนโลยีให้กับประเทศ รวมถึงเทคโนโลยีระบบบริการด้านเภสัชกรรมและด้านการสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนและผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้เผชิญกับความท้าทายทางสุขภาพและความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เพิ่มอัตราเร่งในการนำเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพด้านเภสัชกรรม ให้บริการประชาชนเพื่อลดการเดินทาง และช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในสถานพยาบาล โดยที่ยังได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ  

“A-MED Care ที่ สวทช. พัฒนาขึ้นนี้ เป็นแพลตฟอร์มหลังบ้านในการบริหารจัดการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง รวมถึงร้านยาในระบบ โดย สวทช. พร้อมที่ให้การสนับสนุนบุคลากร ทรัพยากร ภายใต้กรอบพันธกิจของหน่วยงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่ง สวทช. มีความยินดีอย่างต่อความร่วมมือกับสภาเภสัชกรรมและ สปสช. ในครั้งนี้ ” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว 

ด้าน นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เภสัชกรรมเป็นวิชาชีพสุขภาพที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีบทบาทหน้าที่ในการปรุงยาและใช้ยาเพื่อบริบาลผู้ป่วย และด้วยศักยภาพของวิชาชีพเภสัชกรรมที่เข้าถึงทุกชุมชนในรูปแบบร้านยา จึงได้ร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ชื่อ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแล้ว ล่าสุดยังได้เพิ่มนวัตกรรมบริการ “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” (common illnesses) โดยร้านยาคุณภาพของฉัน เพื่อให้คำปรึกษาสุขภาพ จ่ายยาตามอาการ และติดตามอาการผู้ป่วย โดยได้รับการตอบรับด้วยดีจากประชาชนผู้ใช้สิทธิ 

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้บริการร้านยาชุมชนอบอุ่นสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการการพัฒนาระบบ A-MED Care Pharma เพื่อรองรับ จึงนำมาสู่ความร่วมมือครั้งนี้ โดยการสนับสนุนจากสภาเภสัชกรรมและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งมีความร่วมมือที่ดีกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาโดยตลอด และจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางและการดำเนินงานทุก ๆ ด้านของการให้บริการเภสัชกรรม เกิดนวัตกรรมบริการเภสัชกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลต่างๆ ในส่วนงานเภสัชกรรม เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศต่อไป