ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. ฝาก อสม. สำรวจบ้านไหนมีหญิงท้อง เฝ้าระวังเข้มเป็นพิเศษ เหตุเสี่ยงรับไวรัสซิกากระทบทารกในครรภ์ ส่วนอุบัติการณ์เกิดโรคไม่มากเท่าไข้เลือดออก ขณะที่การควบคุมยุงลายด้วยการทำหมัน ฉายรังสี ยังอยู่ขั้นวิจัย

 

ไวรัสซิกาพบไม่มากเท่าไข้เลือดออก 

 

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี สธ.ออกมาเตือนถึงโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ทำให้มีการวิเคราะห์จะมีการระบาดเหมือนโรคไข้เลือดออกหรือไม่ ว่า คำว่าระบาดคือโรคมีการเพิ่มเติมเกินความคาดหมาย จนไม่สามารถใช้ทรัพยากรของเราในการควบคุมได้ ถือว่าจำนวนเคสผู้ป่วยซิกาเพิ่มขึ้น แต่ระบาดหรือไม่ก็แล้วแต่ตีความ แต่ภาพรวมก็คือเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ โดยผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทยตอนนี้อยู่ในระดับหลักร้อย สถานการณ์ก็ยังไม่ได้รุนแรงมาก ซึ่งโรคติดเชื้อไวรัสซิกาและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เมื่อเทียบกับไข้เลือดออกจำนวนผู้ป่วยถือว่าน้อยกว่าเยอะ โดยโรคไข้เลือดออกป่วยกว่า 4 หมื่นคน แนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนไข้ปวดข้อยุงลายหรือซิกาจะเป็นหลักร้อย ถ้าสูงขึ้นก็เป็นหลักพัน 

 

ไวรัสซิการะวังสุดในหญิงตั้งครรภ์ เสี่ยงกระทบลูก

 

"แม้ผู้ป่วยยังไม่ได้เยอะมาก แต่ก็ต้องระวัง เพราะโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในผู้ใหญ่ทั่วไปและเด็กส่วนใหญ้ไม่มีปัญหา จะมีปัญหาเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เราก็ให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ โดยเน้นย้ำ อสม.ว่า บ้านไหนที่มีผู้หญิงตั้งครรภ์ให้ไปสำรวจลูกน้ำยุงลาย และควบคุมยุงลายอย่างเข้มงวด เพราะผู้หญิงท้องนาน 9 เดือน ก็ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง 9 เดือนไม่ให้ยุงกัด ก็ถือว่าเป็นเรื่องยาก" นพ.โอภาสกล่าว 

 

ถามว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกามีโอกาสเกิดผลกระทบต่อเด็กทารกมากน้อยแค่ไหน นพ.โอภาสกล่าวว่า ขึ้นกับระยะเวลาที่ติดเชื้อ ถ้าติดเชื้อตอนสมองยังไม่พัฒนา โอกาสที่ทารกออกมาจะสมองเล็กมีสูง แต่ถ้าติดเชื้อตอนใกล้จะคลอดแล้ว สมองเด็กพัฒนาการแล้ว โอกาสมีความผิดปกติก็น้อย มีดอกาสเจอได้ไม่บ่อยนัก แต่ขึ้นกับระยะเวลาการติดเชื้อขึ้นกับช่วงไหนของการตั้งครรภ์ ซึ่งช่วงที่เด็กทารกในครรภ์กำลังพัฒนาสมอง คือ ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หรือ 12 สัปดาห์แรก โอกาสเกิดสมองเล็กเยอะที่สุด 

 

การตัดต่อยีนยุงิเพื่อทำหมันคุมโรคยังอยู่ขั้นวิจัย

 

ถามถึงความคืบหน้าของการตัดต่อพันธุกรรมยุงลายหรือการทำหมันยุงลาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่นำโดยยุงลายเป็นเช่นไร  นพ.โอภาสกล่าวว่า เรื่องการควบคุมยุงลายมีการศึกษากันเยอะ ทั้งปล่อยยุงไปทำหมัน ปล่อยยุงไปฉายรังสี ทั้งปล่อยยุงตัวผู้ไปผสมตัวเมียแล้วเป็นหมัน มีวิธีค้นคว้าเยอะก็พบว่าได้ผลแบบหนึ่ง แต่พอเอามาใช้จริงในภาคสนาม ก็จะติดข้อจำกัดหลายอย่างในแต่ละพื้นที่ซึ่งจะไม่เหมือนกัน ถือว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งพูดไปภาพรวมก็ถือว่าอยู่ในขั้นการทดลองวิจัยในภาคสนาม ยังไม่สามารถมาใช้โดยทั่วๆ ไปได้ และอีกที่หลายคนเป็นห่วงก็คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม