ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอยานำพา “เศรษฐกิจสุขภาพ”

ท่านที่เคยติดตามบทความก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เภสัชกรกับการส่งเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคภัย ในสถานการณ์โควิด-19” และ “หมอยานอกรั้ว สู่ครัวเรือนร้านชำ ก้าวบันได 3 ขั้น สู่การนำไปใช้ยาสมเหตุผล” ทั้ง 2 เรื่อง มีความเชื่อมโยงมาจนถึงบทความฉบับนี้ นั่นคือ เภสัชกรกับการสร้างแรงบันดาลใจในชุมชน พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการต่อยอดแก้ปัญหา นำพาเศรษฐกิจสุขภาพ ซึ่งขอหยิบยกตัวอย่าง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ในการขับเคลื่อนดังกล่าวนี้หมอยานำพา “เศรษฐกิจสุขภาพ”

การขับเคลื่อนงานเภสัชกรรมในชุมชนและภาคีเครือข่ายอำเภอเมืองร้อยเอ็ด ได้เริ่มนับหนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ในการแก้ปัญหาเรื่องยาในชุมชน (RDU in Community) ด้วย MELT model ผ่านกลไกพื้นฐาน พชอ. สู่ บวร.ร.ที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนา “รูปแบบการจัดการปัญหาการใช้ยาไม่ปลอดภัยในชุมชน” ของผู้วิจัย ภญ.กัลยาณี อาชาสันติสุข นำมาซึ่งผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่จับต้องได้ในการแก้ปัญหา โดยมีกระบวนการหรือเคล็ดลับที่เข้าใจง่าย สามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่ แม้มีข้อจำกัดในเรื่อง คน เงิน ของ

 

ในขณะเดียวกัน เมื่อสถานการณ์การใช้ยาสมเหตุผลในชุมชนดีขึ้น ได้เตรียมการณ์รองรับ นับสอง ในการวางระบบแก้ปัญหาเรื่องอาหารปลอดภัย (Food safety) อย่างจริงจังตั้งแต่สมัยโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อปี 2563 โดยส่งเสริมการปลูกผักผลไม้อินทรีย์ หรืออย่างน้อยขอให้มีมาตรฐาน GAP และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ จากนั้นได้ต่อยอด นับสาม เข้มข้นในเรื่องการเฝ้าระวังการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ เกิดความร่วมมือกันระหว่างเภสัชกรกลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลร้อยเอ็ด เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ปศุสัตว์อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ประมงอำเภอเมืองร้อยเอ็ด และเกษตรอำเภอเมืองร้อยเอ็ด ในการแนะนำร้านขายอาหารสัตว์มิให้จำหน่ายยาปฏิชีวนะหรือยาอันตรายใดๆ รวมทั้งแนะนำเกษตรกรที่มีฟาร์มสัตว์ หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ เภสัชกรได้แนะนำผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ ให้พัฒนาสู่การมีเลข อย. รวมทั้งใช้วัตถุดิบที่ปลอดยาปฏิชีวนะ โดยสังเกตจากป้ายหรือสติ๊กเกอร์ “ปศุสัตว์ OK” หรือที่มีตรารับรองที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ซึ่งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสวนพยอม สาขาโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ได้ส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการทำดีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน โดยเปิดตลาดเพื่อกระจายสินค้าปลอดภัยสู่ชุมชนทุกวันในเวลาราชการ สร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไม่น้อยกว่ารายละ 30,000 บาท/เดือน

การลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสะท้อนปัญหาเรื่องยา อาหาร รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆที่พบ แล้วสื่อสารออกไปยังชุมชนด้วยภาษาเดียวกันที่เข้าใจง่าย พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกันได้กับภาคส่วนต่างๆที่นอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของเภสัชกรงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในมิติต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ศาสตร์หลายแขนง อาทิ ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ ด้านเกษตรศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านพุทธศาสตร์ ในการผสมผสานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และที่สำคัญ คือ ช่วยในเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน นำมาซึ่ง “เศรษฐกิจสุขภาพ” อย่างแท้จริง

สิ่งที่บอกกับชุมชน “ความยั่งยืน ต้องไม่ยืนอยู่กับที่”

 

ภญ.กัลยาณี อาชาสันติสุข งานคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลร้อยเอ็ด