ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อนุทิน”ลงนามประกาศหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 66 (ฉบับที่ 3) เปิดทาง สปสช. สนับสนุนเงินจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคแก่คนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษา ไม่จำกัดเฉพาะสิทธิบัตรทองอีกต่อไป หลังหาทางออกความชัดเจนข้อกฎหมายเพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการของสถานพยาบาล  
 
วันที่ 6 ส.ค. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 และ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 หลังจากได้ข้อยุติทางกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้สามารถใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการจ่ายชดเชยค่าบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) แก่หน่วยบริการที่ให้บริการ PP แก่บุคคลที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง เช่น ข้าราชการ ผู้ประกันตน พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น 


 
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีประเด็นทางกฎหมายว่าเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถนำมาใช้ด้านการจัดบริการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกับผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่ ดังนั้น นายอนุทินจึงได้มอบนโยบายให้แสวงหาความชัดเจนทางด้านกฎหมาย เพื่อหาทางออกให้ สปสช. สามารถนำเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปใช้ในการจัดบริการแก่คนไทยทุกคนได้อย่างยั่งยืน

สนับสนุนเงินจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 

 “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นประเด็นสำคัญที่ต่างจากการรักษาพยาบาล เพราะถ้าบอกว่าเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถนำมาใช้ได้เฉพาะกับผู้มีสิทธิบัตรทองจะทำให้เกิดปัญหาทันที เช่น การควบคุมโรค หากจัดบริการควบคุมโรคติดต่อเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง จะทำให้คนกลุ่มอื่นๆ ไม่ได้รับบริการและอาจเกิดการเจ็บป่วยได้ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยแล้วก็จะเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง เป็นต้น ดังนั้นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจึงจำเป็นต้องจัดให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคนไม่ใช่แค่สิทธิบัตรทอง ซึ่ง สปสช. ก็ได้ยึดแนวทางนี้มาโดยตลอด แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดความไม่ชัดเจนทางกฎหมาย แต่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นกังวลกับเรื่องนี้ และมอบนโยบายแก่ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข ให้ลดผลกระทบแก่ประชาชน และเร่งรัดการสร้างความชัดเจนทางกฎหมาย เพื่อให้ สปสช. สามารถนำเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปสนับสนุนการจัดบริการ PP แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน”นพ.จเด็จ กล่าว 
 
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หาทางออกและความชัดเจนทางกฎหมายในเรื่องนี้ เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ทำหนังสือแจ้งมายัง สปสช. ว่า การใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปสนับสนุนการจัดบริการ PP แก่คนไทยทุกคน ไม่เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถทำได้ภายใต้การมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 18 (14) และตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ดังนั้นเมื่อมีความชัดเจนทางกฎหมายแล้ว ทางนายอนุทินจึงได้เร่งลงนามในประกาศฉบับนี้ เพื่อให้ประชาชนคนไทยสามารถรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกันทุกคน  
 
“หลังจากนี้ หน่วยบริการไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล รพ.สต. หรือหน่วยบริการสาธารณสุขอื่นๆ สามารถจัดบริการ PP ให้แก่คนไทยทุกคนแล้วมาเบิกเงินจาก สปสช. ได้ตามปกติ ส่วนในช่วงก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา หน่วยบริการใดที่ให้บริการ PP แก่สิทธิอื่นๆที่ไม่ใช่บัตรทอง และยังไม่สามารถเบิกเงินชดเชยค่าบริการได้ ก็สามารถทำเรื่องส่งเบิกย้อนหลังมายัง สปสช. ได้ทันที” นพ.จเด็จ กล่าว

ข่าวเกี่ยวข้อง : สปสช.ยันเบิกจ่ายเงิน 'คลินิกชุมชนอบอุ่น' ตามปกติ พร้อมแจงปมโซเชียลฯแชร์ ข้อเท็จจริงมีที่มา