“นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์” ผู้อำนวยการ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก สะท้อนปัญหางาน สาธารณสุขชายแดน กว่า 32 ปี กับภารกิจคู่ “มนุษยธรรม” สู่ข้อเสนอผู้บริหารระดับสูง สธ. ทางออกแก้ปัญหาระยะยาว... ด้านปลัดฯ สั่งสำรวจข้อมูลทั้งประเทศเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
หากพูดถึงหมอชนบทดีเด่น ที่ปฏิบัติงานสาธารณสุขชายแดนมาตลอดหลายสิบปี....
“หมอตุ่ย” - นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ต.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นหนึ่งในนั้น....ที่คนในแวดวงสาธารณสุขแทบไม่มีใครไม่รู้จัก... เพราะหมอตุ่ย จัดเป็นบุคลากรที่ทำงานการแพทย์และสาธารณสุขในถิ่นทุรกันดาร ตามแนวชายแดนมานานร่วม 32 ปี จนถูกขนานนามว่า “แพทย์ไร้พรมแดน” หรือ “วีรบุรุษ คนไร้สัญชาติ”
แน่นอนว่า การปฏิบัติงานสาธารณสุขชายแดนย่อมประสบปัญหา เพราะด้วยสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลอุ้มผาง อยู่ติดชายแดน การดูแลรักษาไม่ใช่แค่คนไทย แต่ยังจำเป็นต้องดูแลรักษาคนไร้สถานะ คนไร้สัญชาติ หนำซ้ำเมื่อเกิดเหตุทางการเมืองในประเทศเมียนมา ยิ่งทำให้ผู้บาดเจ็บลี้ภัยมาประเทศไทย และต้องเข้ารับการรักษาที่รพ.อุ้มผาง เมื่อต้องรักษาคนไม่มีสัญชาติไทย ประเด็นงบประมาณที่ไม่สามารถเบิกจ่ายย่อมเกิดขึ้น เนื่องจากหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง มีเงื่อนไขให้เฉพาะคนไทย จึงไม่แปลกหากจะพบข่าวโรงพยาบาลอุ้มผางติดลบทางการเงินระดับ 7 หรือวิกฤตทางการเงินระดับสูงสุดอยู่บ่อยครั้ง
ล่าสุด นพ.วรวิทย์ ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ว่า ประสบปัญหาติดลบทางการเงินระดับ 7 อยู่ที่ 40 ล้านบาท แต่ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดย “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” ปลัดสธ. ในการจัดสรรงบประมาณลงมา ขณะเดียวกันปลัดสธ.ยังสั่งให้สำรวจสถานะทางการเงิน แนวทางช่วยเหลือต่างๆของรพ.ชายแดนทั้งหมด
“ผมต้องขอขอบคุณท่านปลัด สธ.ที่ส่งงบประมาณมาช่วยเหลือ ซึ่งทราบว่าขณะนี้ทางสธ.มีแนวทางในการดำเนินการต่างๆเพื่อช่วยงานสาธารณสุขชายแดน ซึ่งผมอยากเสนอผู้บริหารระดับสูงของสธ.ถึงเรื่องนี้ ว่า ควรผลักดันงานสาธารณสุขชายแดนอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาแม้มีการสนับสนุน แต่เมื่อผู้บริหารเกษียณ งานตรงนี้อาจไม่ต่อเนื่อง แต่หากออกเป็นนโยบายชัดเจน ตั้งกองทุนโดยรัฐบาลสนับสนุนเฉพาะจะช่วยได้มาก”
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมออุ้มผาง” ขอบคุณ สธ.ส่งงบฯกู้วิกฤตการเงิน พร้อมเสนอทางออกระยะยาว ตั้งกองทุนเฉพาะ)
ที่มาของปัญหา รพ.ติดลบทางการเงิน
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมถึงปัญหาขาดสภาพคล่องของรพ.มาจากอะไรเป็นสำคัญ หมอวรวิทย์ เล่าว่า จริงๆ การดูแลประชากรคนไทยเรามีงบหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทอง แต่ รพ.ตามแนวชายแดนต่างๆ อย่าง รพ.อุ้มผางจะมีคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมารับบริการด้วย ซึ่งต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มชาวบ้าน ที่เป็นชาวกระเหรี่ยงอยู่ประเทศไทยมานาน และกลุ่มที่ข้ามจากเมียนมามาไทย ทั้งหนีภัยสงคราม บาดเจ็บ หรือการคลอดบุตร เจ็บป่วยไข้มีหมด เพราะการแพทย์การสาธารณสุขฝั่งเมียนมา ล้าหลังกว่าไทยไป 30-40 ปี ยิ่งสู้รบกัน ทำให้พวกเขาไม่มีที่พึ่ง ก็ต้องมารักษาที่ประเทศไทย
“เราเป็นหมอ คนเจ็บป่วยมารักษาก็ต้องช่วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของ มนุษยธรรม ไม่ใช่แค่ผม หมอคนอื่นๆ เห็นคนเจ็บมาอยู่ต่อหน้า อยู่ในรพ.จะไม่รักษาเลยหรือ...” หมอวรวิทย์ กล่าว
หมอวรวิทย์ เผยเพิ่มเติมว่า ตนเข้าใจประเด็นเรื่องงบประมาณ เรื่องกำลังคน แต่ด้วยรพ.อยู่ในพื้นที่ชายแดน หลายๆอย่างเราควบคุมไม่ได้ เราพยายามป้องกัน แต่ก็ติดปัญหางบประมาณอีก อย่างกรณีการรับคลอดลูกให้หญิงไม่มีสถานะคนไทย หลายคนบอกว่า ทำไมเราต้องทำ เพราะถ้าเขาไปคลอดเองและเกิดบาดทะยัก ก็ต้องส่งมารักษาที่รพ. ยิ่งยุ่งยาก เด็กเสี่ยงเสียชีวิต ค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการดูแลรักษา แต่รพ.เน้นการส่งเสริมป้องกันให้ความรู้ เพื่อไม่ให้เกิดโรคด้วย
หมอวรวิทย์ ยังบอกว่า ไม่ใช่แค่รพ.อุ้มผางมีปัญหาเรื่องงบฯ เรื่องบุคลากร แต่ ทุกรพ.น่าจะมีปัญหาแตกต่างกันไป อย่างรพ.ราชวิถี เท่าที่ทราบผู้มาคลอดบุตรก็ไม่มีสัญชาติไทยก็มี บางคนก็ไม่มีเงิน แต่รพ.ก็ต้องดูแลรักษา ส่วนรพ.อุ้มผาง ปัจจุบันดูแลประชากร 84,000 กว่าคน แต่ 40,000 คนไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆเลย และอยู่ในสิทธิบัตรทองเพียง 27,000 คน ทำให้รายได้จากบัตรทอง จากประกันสังคมน้อยไปหมด รวมไปถึงกองทุนคืนสิทธิ ดูแลคนไร้สถานะที่เดิมเคยได้รับงบประมาณอย่างเพียงพอ ขณะนี้ก็ไม่พอ ถูกลดงบประมาณเช่นกัน
หมอวรวิทย์ อธิบายอีกว่า หลายคนไม่ทราบว่า รพ.ชายแดน ถูกลดงบประมาณจากกองทุนคืนสิทธิในช่วงโควิดที่ผ่านมา เพราะรัฐอาจมองว่าได้งบจากโควิด ซึ่ง รพ.อุ้มผางได้รับงบประมาณจากกองทุนคืนสิทธิน้อยลงเป็นสิบล้าน จากเดิมได้ถึง 24 ล้านบาท แต่ปีนี้ได้เพียง 12 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เจอนั้น ไม่ใช่แค่เพราะกองทุนคืนสิทธิได้รับงบฯน้อยลง แต่เป็นเพราะการดำเนินการป้องกันโรคโควิดตามแนวชายแดน เราไม่สามารถเบิกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จากกองทุนบัตรทองได้ เพราะมีเงื่อนไขเบิกจ่ายเฉพาะคนไทย แต่การป้องกันตามชายแดน อย่างรพ.อุ้มผาง ไปตั้งศูนย์กักกันโรค หรือ CI ที่ฝั่งเมียนมา เพราะชาวบ้านอยู่ที่นั่น เรามีบุคลากร เครื่องมือแพทย์ ไปดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อมาประเทศไทย
“รพ.อุ้มผาง มีคนไข้โควิดประมาณ 6 พันกว่าคน นอกจากการดูแลรักษาโรคแล้ว ยังต้องทำเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด ผมได้จัดทำ CI แต่ทำนอกประเทศไทย ทำประมาณ 9 แห่งมีชาวบ้านหลายพันคนอยู่ตรงนั้น ไม่ต้องข้ามมาฝั่งไทย ป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิดมาไทยได้ ปัญหาอย่างที่บอก คือ เมื่ออยู่นอกประเทศไทยไม่สามารถเบิกอะไรได้เลย”
หมอวรวิทย์ กล่าวเสริมอีกว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา ประเด็นการฉีดวัคซีนโควิด19 เป็นเรื่องสำคัญในการช่วยป้องกันโรคแพร่กระจายมาคนไทย เห็นชัดจากคลัสเตอร์สมุทรสาคร ถ้ากระทรวงสาธารณสุข ไม่ฉีดวัคซีนโควิดให้แรงงานต่างชาติในพื้นที่ระบาด จ.สมุทรสาคร ช่วงนั้นไม่มีทางจบได้ แต่เพราะกระทรวงฯ ให้มีการฉีดวัคซีนโควิดแก่คนทุกคน ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น ทำให้คุมการระบาดโควิดได้ ซึ่งกรณีชายแดนก็เช่นกัน ผมได้ขอวัคซีนจากกระทรวงฯ และฉีดให้หมดทุกคนที่อยู่ในรอบพื้นที่นี้ ทั้งคนไทย และไม่ใช่คนไทย เพราะงานระบาดวิทยาจะเลือกสัญชาติไม่ได้
“ตอนนั้นก็มีประเด็นเรื่องงบส่งเสริมสุขภาพ แต่ล่าสุดท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ.ได้ลงนามสามารถใช้งบตรงนี้ในงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และไม่ใช่แค่คนไทย นับเป็นเรื่องที่ดีมาก จริงๆ ไม่ใช่แค่โควิด โรคมาลาเรียก็เช่นกัน ยุงบินไปทั่ว ไม่ได้เลือกว่า คนนี้คนไทย คนนี้ไม่ใช่ ดังนั้น ต้องป้องกันครอบคลุมทั้งหมด ไม่เช่นนั้นโรคก็ระบาดมาคนไทยอยู่ดี” ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าว
ผู้สื่อข่าว Hfocus ถามว่าเมื่อเกิดปัญหางบประมาณ แต่ทางสธ.ได้เข้ามาช่วยแล้ว แต่ระยะยาวมองว่าต้องดำเนินการอย่างไร.. หมอวรวิทย์ บอกว่า ในฐานะที่ทำงานสาธารณสุขชายแดนมาตลอด อยากเสนอความคิดเห็นแก่ผู้บริหารสธ. ขอให้มีการสนับสนุนงานสาธารณสุขชายแดนอย่างต่อเนื่อง เป็นนโยบายที่ต้องดำเนินการตลอดในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงบประมาณทั้งกองทุนคืนสิทธิ และหากเป็นไปได้ขอให้มีการตั้งกองทุนสาธารณสุขชายแดน เนื่องจากกองทุนคืนสิทธิ บริบทในการดำเนินการจะแตกต่างกัน
“กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53” เป็นการคืนสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับบุคคลกลุ่มนี้หลังจากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดการให้ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้สิทธิรักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเคยได้รับมาก่อนหน้านั้นต้องถูกระงับไป แต่กองทุนนี้
“กองทุนคืนสิทธิ หรือที่เรียกกันในแวดวงว่า หลักประกันสุขภาพ ท99 ซึ่งสมัยท่านจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฎ์ เป็นรัฐมนตรีฯ ได้นำเรื่องเข้าครม.ปี 2553 ให้สิทธิคนไร้สถานะแต่อยู่ในประเทศไทยประมาณกว่า 4 แสนคนได้รับการดูแลรักษา ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มชาวกระเหรี่ยง ชาวเขา ขณะที่กรุงเทพฯ ในเมืองก็จะมีอากงอาม่า ที่มาอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว แต่ไม่ได้สถานะคนไทย เป็นต้น แต่ปัจจุบันกองทุนนี้ทั้งประเทศได้รับงบประมาณน้อยลง เพราะปีที่แล้วได้รับงบประมาณจากโควิดมาจำนวนมาก รัฐบาลอาจคิดว่า กระทรวงฯ น่าจะครอบคลุม แต่จริงๆ รพ.อุ้มผาง และรพ.ชายแดนต่างๆจะแตกต่างจากที่อื่นๆ แต่อย่างที่บอกงานสาธารณสุขชายแดน จะแตกต่าง เพราะเราต้องป้องกันการแพร่ระบาดโรคมาไทยด้วย
“ผมพยายามต่อสู้เรื่องนี้มานาน แต่ก็เข้าใจข้อจำกัดของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข หากนำเรื่องมนุษยธรรม และการควบคุมโรคชายแดน ผลักดันควบคู่กัน ซึ่งทราบว่า ขณะนี้ผู้บริหารสธ. จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านชายขอบ และช่วยเหลือประเทศไทยได้มาก”
เมื่อถามถึงปัญหาบุคลากรของรพ.อุ้มผาง มีผลต่อการทำงานสาธารณสุขชายแดนมากน้อยแค่ไหน หมอวรวิทย์ บอกว่า ตนคิดว่ารพ.ทุกแห่ง มีปัญหาบุคลากรทั้งหมด อย่างที่ผ่านมาเรื่องการหมุนเวียนแพทย์ ตนเป็นหนึ่งในคณะทำงานทำให้ทราบว่า บุคลากรมีจำกัดจริงๆ กระทรวงสาธารณสุขก็ทำเต็มที่เช่นกัน
ยกตัวอย่าง ปี 2565 ที่ผ่านมามีแพทย์จบใหม่ลงพื้นที่มาจำนวน 131 คน ครอบคลุม 5 จังหวัดเขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะได้ในจำนวนที่มี เพราะแพทย์ บุคลากรไม่ได้ขาดแคลนแค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่ขาดแคลนทั้งประเทศ อย่างรพ.อุ้มผาง แม้ต้องขอน้องๆหมอมาปฏิบัติงาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะขอจนมากเกินไป เพราะรพ.อื่นๆก็ขาดหมอไม่แตกต่างกัน อย่างบางแห่ง มีหมอทำงาน 3 คน จะแบ่งมาให้เราเยอะก็ไม่ได้อีก ในขณะที่หากเป็นเรา จะให้คนอื่นหมด โดยเราไม่มีก็ไม่ได้อีก
“เมื่อผมมาอยู่ในคณะทำงาน ทำให้เห็นภาพในระดับจังหวัดและในเขตสุขภาพที่ 2 (พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์) จึงรู้ว่ามีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากรบุคคลจริงๆ เกลี่ยมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ไม่ว่าจะแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุข นักกายภาพ และอีกหลายวิชาชีพก็ขาดแคลนหมด อย่างที่ผ่านมา รพ.อุ้มผาง มีทุนแพทย์ประจำบ้าน มีทุกสาขา แต่กลับไม่มีน้องมาเอาทุน ซึ่งก็บังคับไม่ได้”
ขอพิจารณาค่า FTE ตามแนวชายแดนอย่างเหมาะสม
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะรพ.อุ้มผาง อยู่พื้นที่ห่างไกลตามแนวชายแดน ประกอบกับเรื่องค่าตอบแทนทำให้ไม่สามารถดึงคนมาในพื้นที่ด้วยหรือไม่ หมอวรวิทย์ ตอบว่า ก็น่าจะมีส่วน และยังมีทุนที่อื่นด้วย ซึ่งตนเข้าใจเป็นเรื่องธรรมดา เรียกว่าเป็นปัจจัยที่เกินควบคุม อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ก็ขอย้ำเรื่องการให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขชายแดน ทุกวันนี้เรายังขาดคนทำงาน อย่างค่า FTE เป็นสิ่งสำคัญในเรื่องการได้บุคลากรสอดคล้องภาระงาน ขอให้มีการพิจารณาค่า FTE (Full Time Equivalent) การคำนวณอัตรากำลังตามแนวชายแดนอย่างเหมาะสม ซึ่งการผลิตแพทย์รองรับชายแดน ตนสนับสนุนการผลิตแพทย์จากชนบทคืนชนบท ให้คนพื้นที่ได้มีโอกาสได้ศึกษาเพื่อกลับมาทำงานที่บ้าน หรือโครงการ โอดอท ซึ่งเป็นโครงการที่ดี
หมอวรวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การให้ความสำคัญงานสาธารณสุขชายแดน จะไม่ใช่แค่การช่วยรพ.อุ้มผางเท่านั้น แต่จะช่วยรพ.ที่อยู่ตามแนวชายแดนต่างๆ อีกจำนวนมาก จะช่วยได้ทั้งประเทศไทย ที่สำคัญยังเป็นจุดเด่นของประเทศในแง่การดูแลรักษาเพื่อนมนุษย์ ตามหลักมนุษยธรรม เราสามารถนไปบอกประเทศอื่นๆได้ว่า ประเทศไทยเราดูแลรักษาทุกคน แม้ไม่ใช่คนไทย ซึ่งคนไทยที่ไปอยู่ประเทศอื่นก็ขอให้ประเทศนั้นๆ ดูแลคนไทยให้ดีแบบเดียวกันก็จะดีมาก
หากทุกประเทศทำแบบนี้ ในโลกนี้จะน่าอยู่แค่ไหน หากเราดูแลรักษากัน โดยยึด มนุษยธรรม เป็นตัวกลาง อย่าเอาเงินมาเป็นตัวกลางหลัก ยกเว้นคนมีฐานะสามารถจ่ายได้ มีประกันสุขภาพส่วนตัวก็ว่ากันไป...
ปลัดสธ.สั่งสำรวจข้อมูลทั้งประเทศ รพ.ชายแดนทั้งหมด หาทางออกจัดการอย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอดังกล่าว ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้รับข้อมูลจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงฯ ติดตามสถานะการเงินของ รพ.ทั้งหมด รวมไปถึงรพ.ตามแนวชายแดนต่างๆ ไม่ใช่เพียง รพ.อุ้มผาง เท่านั้น เพื่อให้ได้ข้อมูล และจัดการเป็นระบบภาพรวมทั้งประเทศ
นับเป็นนิมิตหมายที่ดี รอติดตามการดำเนินงานว่า จะเป็นอย่างไร เพื่อให้งานสาธารณสุขชายแดนขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุดแม้จะเปลี่ยนยุค หรือเปลี่ยนผู้บริหารไปแล้ว.....
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-สธ.ชูแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว "รพ.อุ้มผาง" ใช้แพทย์จบใหม่หมุนเวียนงาน 3-4 เดือน
-สธ.แจง “หมอลาออก” ปัญหาสะสม ล่าสุดวางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานนอกเวลา 64 ชม.ต่อสัปดาห์
- 1308 views