ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยเหตุผลมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่ห้ามขายห้ามดื่ม แต่ควบคุมโฆษณา ยับยั้งการบริโภคมากขึ้น แจงกรณีกฤษฏีกาสั่งทบทวนปรับแก้กฎหมายเหล้า กรณีห้ามดื่มในเวลาห้ามขาย ย้ำอย่ากังวลไม่มีการปรับเวลาขายสุรา และยังไม่อนุญาตขาย 24 ชั่วโมง

 

 

เพราะอะไร..ถึงต้องมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้โฆษณามีผลต่อยอดขาย

ตามที่มีกระแสจากบางพรรคการเมืองรวมถึงภาคธุรกิจอยากให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะเรื่องของการวันและเวลาห้ามขาย การห้ามโฆษณาที่เป็นการเอื้อรายใหญ่ ปิดกั้นรายย่อย โดยอยากให้มีเรื่องของสุราพื้นบ้านเพิ่มมากขึ้นนั้น

เมื่อวันที่ 16  สิงหาคม นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ว่า จริงๆ แล้ว กฎหมายออกมาเพื่อควบคุมการเข้าถึงและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและเรื่องสุขภาพ อย่างที่เห็นการโฆษณามีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากพอสมควร เราต้องถามว่าการสมดุลหรือบาลานซ์ระหว่างการเพิ่มการโฆษณาจนกระทั่งทำให้มีการพฤติกรรมการบริโภคเพิ่มขึ้นกับผลเสียเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อหลายคนก็หลายถกเถียงเพราะมีมุมมองที่แตกต่างกัน จะแค่ไหนอย่างไร พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เขียนเบื้องต้น ว่าโฆษณาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งเกือบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็มีการโฆษณา แต่ขนาดมีการควบคุมการโฆษณา แต่ไปดูยอดเปอร์เซ็นต์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะพยายามเบรกแค่ไหนการโฆษณาก็มีอิทธิพลทำให้เกิดการซื้อที่เพิ่มมากขึ้น

"อย่างช่วงปีที่ผ่านมา ถ้าดูตัวเลขการเก็บภาษี เบียร์อย่างเดียวประมาณเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ภาษีเหล้าสีอีก สุดท้ายแล้วยอดขายปีหนึ่ง 3-4 แสนล้านบาท ถ้าตีความเป็นงบประมาณประเทศปีหนึ่งประมาณ 3 ล้านล้านบาท เป็นยอดการบริโภคที่ไม่ได้เทียบกับจีดีพีก็ประมาณ 10% ของงบประมาณ เราใช้เงินสำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเป็นแสนล้านบาท สิ่งสำคัญคือตัวผลิตผลที่มาจากการบริโภคอาจดูว่า เจ้าของผู้ผลิตอยากมีส่วนร่วม เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่ แต่ที่เราต้องทำควบคู่กัน คือ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมทั้งการกลายเป็นภาระในอนาคต" นพ.นิพนธ์กล่าว

กฎหมายเหล้าไม่ได้ห้ามขายห้ามดื่ม แต่ควบคุมโฆษณา ยับยั้งการบริโภคมากขึ้น

นพ.นิพนธ์กล่าวต่อว่า หากเราเข้าใจเรื่องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กฎหมายไม่ได้ห้ามขายห้ามดื่ม แต่การมีการควบคุมโฆษณาเป็นกุศโลบายอันหนึ่งที่ช่วยยับยั้งเพื่อไม่ให้เกิดการกระตุ้นให้มีการบริโภค เหมือนตอนนี้ที่เราดูซีรีส์เกาหลีคนก็มาฮิตกินเหล้าขาวอย่างโซจู ทั้งที่เดิมถามว่าเรากินเหล้าขาวไหมก็แทบไม่ได้กิน ก็ไม่แปลกที่โฆษณามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภค ถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ในอนาคตเราจะยอมทำให้เรื่องพวกนี้มีอิทธิพลไหม แล้วถามว่าคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ เรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากน้อยแค่ไหน ถึงแม้จะบอกว่าผู้ประกอบการก็มีผลแต่ก็ต้องบาลานซ์ทั้งสองด้าน ว่าอย่างไร ใครคือผู้เสียผลประโยชน์ เรามีการบอกว่าให้ดื่มอย่างรับผิดชอบ แต่จริงๆ แล้วคนดื่มรับผิดชอบ แต่คนขายรับผิดชอบหรือไม่ ก็ต้องถามควบคู่กัน

กฤษฏีกาสั่งทวนทวนปรับแก้ พ.ร.บ.เหล้า กรณีห้ามดื่มในเวลาห้ามขาย

เมื่อถามว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กรมควบคุมโรคเสนอมีการเน้นในเรื่องใดบ้าง นพ.นิพนธ์กล่าวว่า ตอนนี้ยังติดปัญหา เพราะถูกท้วงติงจากกฤษฎีกาให้มาทบทวนบางเรื่อง คือ ประเด็นห้ามดื่มในเวลาที่ห้ามขาย ซึ่งจริงๆ ตรงนี้ไม่ใช่กฎหมายของเรา แต่เป็นคำสั่งคณะปฏิวัติของกรมการปกครอง ที่ออกคำสั่งห้ามดื่มในสถานที่ขายสุราในเวลาที่ห้ามขาย แต่กฤษฎีกาอยากให้เราแก้ด้วย เราก็ทำความเห็นไปก่อน สุดท้ายคืออยู่ที่กฤษฎีกาว่าจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งร่างกฎหมายยังไม่ได้ผ่านไปถึงสภา ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ ซึ่งเราพยายามปรับปรุงให้สอดรับโดยทุกอย่างไม่ได้ใช้เพียงวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ และเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลัก

เหตุผลที่กม.ควบคุมเวลาจำหน่าย ไม่สามารถขายเหล้าเบียร์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

"มีแนวคิดให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง แต่เราพบว่า ช่วงเวลาที่ห้ามขายคือ 14.00-17.00 น. ถ้าคนเริ่มกินได้ตั้งแต่ช่วงนี้ ก็จะต่อเนื่องไปช่วงเย็น แล้วเกิดอุบัติเหตุในช่วงดึก แต่การกำหนดเวลา ก็จะช่วยลดการเข้าถึงในบางเวลา ไม่ได้ห้ามตลอด เพราะกฎหมายไม่สามารถล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลได้" นพ.นิพนธ์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ในความกังวลเรื่องการปรับเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในกฎหมายปรับปรุงยังคงเดิมไว้ไม่ได้มีการแก้ไข  

 

อยู่ระหว่างเสนอแก้ไขกฎหมายเหล้ากรณีห้ามโฆษณา

ถามว่ามีการเสนอแก้ไขกฎหมายเรื่องการห้ามโฆษณาอย่างไรบ้าง นพ.นิพนธ์กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่พยายามเสนอขึ้นไป แต่จะออกมาเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ เพราะต้องผ่าน ครม. ผ่านสภา แปรญัตติ ผ่านกฤษฎีกากว่าจะหลุดออกมา ส่วนเรื่องการใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปกับสินค้าอื่นอย่างน้ำ โซดา ที่เรียกว่าตราเสมือนหรือแบรนด์ดีเอ็นเอ เรื่องนี้เคยถูกกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับปี 2551 แต่ถูกตัดออกตอนแปรญัตติ เพราะบทเรียนเรื่องนี้มีในบุหรี่มานานแล้ว ซึ่งก็เป็นกลไกการใช้ที่เราไม่ต้องพูดถึงแต่รู้ว่าคืออะไร เราพยายามจะเสนอเข้าไปในร่างกฎหมาย แต่ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายจะออกมาเป็นเช่นไร

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : “ศรีสุวรรณ” บุกกรมควบคุมโรค ร้องกรณี “หมออ๋อง” โพสต์ภาพเข้าข่ายโฆษณาผิดพรบ.เหล้า