ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เตือนกลุ่มศรัทธา “ครูกายแก้ว” อย่าให้ถึงขั้นงมงาย ต้องใช้สติในการพิจารณา เผยหลักจิตวิทยาคนยึดมั่นสิ่งเหนือธรรมชาติ มักต้องมีความหวังที่อธิบายไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ส่วนข้อกังวลว่า หากมีใครถูกรางวัลเชื่อมโยงสิ่งเหนือธรรมชาติจะเกิดกระแสแห่ตาม เรื่องนี้ต้องมีสติ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้  อย่าให้ถึงกับยึดมั่นจนสูญเสียเงินทอง หรือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคม

 

กรณีกระแสการเคารพบูชา “ครูกายแก้ว” จนเกิดประเด็นความเห็นต่างในสังคมออนไลน์ ขณะเดียวกันยังเกิดคำถามว่า การที่คนไปเคารพสิ่งต่างๆ มากขึ้นเป็นเพราะต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นการสะท้อนภาวะทางจิตใจที่มีความเครียดมากขึ้นด้วยหรือไม่  

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว  Hfocus ว่า เป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก ว่าคนไปเชื่อถือ ศรัทธา มากขึ้นหรือไม่ เพราะไม่มีตัวเปรียบเทียบว่า เดิมเป็นอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็อาจเป็นไปได้ว่า กลุ่มคนที่เชื่อถือศรัทธา สิ่งเหนือธรรมชาติแบบอื่นๆ พอมีรูปแบบใหม่ๆมา ซึ่งคนกลุ่มเดิมได้เปลี่ยนมาศรัทธาสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาแทนที่ได้ อย่างไรก็ตาม กระแสที่ดูเหมือนมีจำนวนมากนั้น อาจเป็นเพราะโซเชียลมีเดียไปเร็วมาก ประกอบกับถ้าเราเสพข้อมูลอะไรในโซเชียลฯ สิ่งนั้นๆก็จะป้อนเข้ามาให้เราได้รับรู้เพิ่มขึ้น

โดยหลักการทางด้านจิตวิทยา สำหรับผู้เชื่อถือ หรือยึดมั่นใจสิ่งเหนือธรรมชาติมากๆ ส่วนหนึ่งก็จะมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือสิ่งจับต้องได้ ก็เป็นไปได้ที่จะไขว่คว้าหาสิ่งธรรมชาติ หรืออภินิหารต่างๆ เพื่อประคับประคองจิตใจ เป็นทางเลือกของความหวังอีกแบบหนึ่ง ซึ่งหากชีวิตจริงๆ มีเหตุผล มีความหวังที่เป็นจริงมากขึ้น ความรู้สึกคลายตัวจากสิ่งเหนือธรรมชาติก็จะเบาบางลงได้

กรมจิตดึงสติ คนเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ปัญหาอาจโยงคนถูกรางวัล หวั่นแห่ตาม

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีนี้มีคนห่วงว่า หากบางคนศรัทธามากๆจนถึงขั้นงมงายและยอมเสียเงินเสียทองในการซื้อวัตถุมงคล หรือทำพิธีกรรมต่างๆที่เกินพอดี ควรทำอย่างไร... พญ.อัมพร กล่าวว่า ความศรัทธาที่ทำให้เรา คิดดี พูดดี ทำดี เป็นเรื่องที่ดี  แต่ความศรัทธาที่นำไปสู่ความสูญเสีย โดยปราศจากเหตุผลจะไม่ใช่ศรัทธาแล้ว แต่จะเป็นความงมงาย ดังนั้น ต้องมีสติ เตือนตัวเอง ถามตัวเองเสมอว่า ศรัทธาจะนำมาสู่ความสูญเสีย ค่าใช้จ่าย ถือเป็นความหวังที่ซื้อได้ด้วยเงินจริงหรือ ถูกต้องหรือไม่ ต้องคิดให้รอบคอบ ต้องเตือนสติตัวเองด้วยเหตุด้วยผลที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากมีคนถูกรางวัลและเชื่อมโยงสิ่งเหนือธรรมชาติ จนคนแห่ตามจะทำอย่างไรให้ไม่เกินพอดี อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  หากมีใครถูกรางวัลและออกมาพูดเชื่อมโยง หรือแตะเรื่องนี้เพียงนิดเดียว ก็จะกลายเป็นเรื่องโด่งดัง ทั้งๆที่ที่มาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นความจริงหรือไม่ เพราะไม่มีใครพิสูจน์ได้ สิ่งสำคัญคือ สติ เราต้องมีสติ คิดอย่างมีเหตุมีผล 

แนะคนเสพข่าวเสพข้อมูล อาจอินตาม

เมื่อถามว่ามีข้อแนะนำสำหรับคนเสพข้อมูลเหล่านี้ ที่ไม่ได้อยู่ในวงของการเคารพศรัทธา แต่เกิดภาวะอินตามหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า สำหรับคนที่เสพข้อมูลตรงนี้จนอาจทำให้คล้องตามหรือเกิดความเครียดนั้น ซึ่งแน่นอนว่ามีพื้นที่ส่วนหนึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยความก้าวร้าว ความโกรธ แต่พื้นที่ที่แลกเปลี่ยนด้วยความสุภาพ ด้วยเหตุผลก็มีอยู่จำนวนมาก แต่หากหลุดเข้าไปในแวดวงของกลุ่มก้าวร้าว ความเกลียดชัง ต้องดูแลตัวเองด้วย ซึ่งอันดับแรก ต้องพึงสังเกตคือ บ่อยครั้งที่อารมณ์ของเรา หรือสภาพความคิดเห็นของเรามักทำให้เราไปวนเวียนอยู่ในสิ่งที่คล้ายคลึงกับตัวเราด้วย โดยเมื่อไหร่ที่เราอ่านเรื่องเป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์ก็จะมีข้อมูลเหล่านี้ถูกป้อนเข้ามาด้วยระบบไอที เทคโนโลยีโชว์เข้ามาให้เราได้อ่านได้เสพข้อมูลในแต่ละค่ายของโซเชียลมีเดีย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ดังนั้น เราต้องตระหนักว่า ข้อมูลเหล่านี้ที่เข้ามา อาจเพราะเราเข้าไปในข้อมูลเหล่านี้มีส่วนร่วมกับข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งจะสะท้อนถึงจิตใจของเราในอารมณ์ด้านลบ หรือเริ่มมีความคิดที่ถูกเชื่อมโยงไปในทางลบ อันนี้สำคัญเป็นหัวใจต้องเตือนตัวเอง และตั้งหลักว่า โลกที่เราเห็นตอนนี้ไม่ใช่โลกทั้งหมด และสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องมายึดติด และไหลตามไปเรื่อยๆ

“หลักการง่ายๆ ในการเสพข้อมูลที่ไม่ทำให้เครียด  คือ การกำกับตัวเองให้ออกจากการเสพข้อมูล  หรือออกจากสื่อในรูปแบบนั้นๆ แต่หากติดอกติดใจและรู้สึกว่าขาดการรับรู้ไม่ได้ แทนที่จะรับสื่อนั้นๆทางตรง ให้รับสื่อทางอ้อมผ่านบุคคลที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ หรือมีวุฒิภาวะ และอีกอย่างในการดึงเราออกจากสื่อที่มีแง่มุมลบๆ คือ การค้นหามุมบวก โดยดูแง่มุมอื่นๆ ข่าวสารอื่นๆที่มีทิศทางสร้างสรรค์ และสร้างความผ่อนคลาย ทำให้เราเข้าใจ ได้พัฒนาความรอบรู้ต่างๆมากขึ้น” พญ.อัมพร กล่าวทิ้งท้าย

หมอยงยุทธ เผยเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในคนที่ไม่มั่นคงทางจิตใจ

วันเดียวกัน นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า  เรื่องนี้ก็เหมือนกับความเชื่อทั่วไป ที่เกิดขึ้นในคนที่มีความไม่มั่นคงทางจิตใจ ต้องนำเรื่องของความเชื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนความคิดและการกระทำ เทคนิคที่จะทำให้ความเชื่อนั้นน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น คือ การสร้างสตอรี่หรือเรื่องราวมาผนวกกัน สูตรเดิมที่เคยมีมาก่อนเหมือนกับจตุคามรามเทพ หรือกุมารทอง หรือตุ๊กตาลูกเทพ อย่างคราวนี้จะเห็นว่า มีการอ้างว่า ครูกายแก้วมาจากเขมร หรือเป็นอาจารย์ของท่านใดก็ตาม เรื่องนี้ต้องแยกออกจากกันว่า สตอรี่คือการสร้างเรื่องราว อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพียงแต่เสริมเติมแต่งให้คนเกิดความเชื่อ และศรัทธา

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนนำหลักคิดนี้ไปใช้ เพื่อไตร่ตรองก่อนจะเชื่อสิ่งใด เพราะต้องเข้าใจว่า ทุกครั้งที่คนเราประสบปัญหาจะมีคนอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

1.มุ่งแก้ไขปัญหาโดยปราศจากความเชื่อ คนกลุ่มนี้ไม่น่าเป็นห่วง

2.มีแต่ความเชื่อแต่ไม่มุ่งแก้ไข คนเหล่านี้จะมีพฤติกรรมอยู่เฉยๆ จนสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไป หากไม่มีอะไรร้ายแรง ก็จะเชื่อว่าสิ่งที่ตนนับถือศรัทธานั้นดลบันดาล

3.คนที่ทั้งเชื่อและมุ่งแก้ไข กลุ่มนี้ไม่น่ากังวลเท่ากับกลุ่มที่ 2 เพราะยังแก้ไข ทั้งเชื่อและแก้ไขไปด้วยกัน ดังนั้น การจะเชื่อและศรัทธาอะไรอย่าลืมที่จะต้องแก้ไขและพัฒนาชีวิตตนเองไปด้วย