ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กทม.แสดงความเสียใจเหตุเด็กนักเรียนถูกทำร้าย สั่งเข้มมาตรการความปลอดภัย เร่งเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้อง  วางมาตรการความปลอดภัยป้องกันพกอาวุธเข้าโรงเรียน ยังไม่แน่ใจผู้กระทำผิดเป็น เด็กพิเศษ หรือไม่ แต่ครูผู้สอนประเมินเบื้องต้นมีอาการสมาธิสั้น ไม่นิ่ง ด้านกทม. อบรมครูเด็กพิเศษ คาดแล้วเสร็จกลางปี

 

เมื่อวันที่ 29 มกราคม  พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีเหตุนักเรียนถูกทำร้ายร่างกาย ณ โรงเรียนย่านพัฒนาการ 26 ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น เด็กนักเรียนที่ก่อเหตุเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 แต่อยู่คนละห้อง สาเหตุของการก่อเหตุในวันนี้ คาดว่าเด็กนักเรียนที่ก่อเหตุโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์ จึงมีความคับแค้นใจ อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างทวนสอบหาข้อเท็จจริงที่แน่ชัด สำหรับการประเมินจากคุณครูผู้สอน คุณครูได้ให้ความเห็นว่าเด็กนักเรียนผู้ก่อเหตุเป็นเด็กสมาธิสั้น ไม่นิ่ง ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญไปสอบสวนที่ สน.คลองตัน พร้อมกับผู้ปกครอง เพื่อตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ เนื่องจากต้องมีหลักฐานหรือใบรับรองแพทย์ในการรับรองความพิเศษ

 

"ด้านเด็กนักเรียนที่ถูกทำร้ายได้นำส่งโรงพยาบาลวิภารามเพื่อให้การช่วยเหลือชีวิต แต่ต่อมาได้รับรายงานว่าเสียชีวิตแล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนเด็กอีกคนรับข้อมูลมาว่า ถูกบูลลี่ถูกแกล้งจนทนไม่ไหว้ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องตรวจสอบในแง่สุขภาพจิต เป็นสิ่งสำคัญ" พญ.วันทนีย์ กล่าว

สำหรับการดำเนินการเบื้องต้น กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับความรู้สึกของนักเรียนและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยได้ส่งนักจิตวิทยาให้การเยียวยาในเบื้องต้น เนื่องจากอาจเกิดความเครียด ซึ่งส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจได้

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียดังกล่าว และจะเร่งเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจะต้องมีการทวนสอบสาเหตุที่แน่ชัดในการก่อเหตุ ตรวจสอบว่าเด็กนำอาวุธมาจากไหน และต้องวางมาตรการด้านความปลอดภัยให้รัดกุมเข้มข้นมากขึ้นต่อไป

กทม.อบรมครูเด็กพิเศษ คาดเสร็จกลางปี

นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมถึงมาตรการระยะยาวว่า กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการดำเนินการฝึกอบรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครในทุกโรงเรียนให้เป็นครูเด็กพิเศษ เพื่อให้ครูกทม.สามารถมองออก คัดกรองได้ และสามารถดูแลเด็กได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยการดำเนินการฝึกอบรมนี้จะแล้วเสร็จช่วงกลางปีถึงปลายปีนี้

ทั้งนี้ โรงเรียนในสังกัด กทม.มีจำนวน 437 แห่ง โรงเรียนที่เปิดรับเด็กพิเศษมี 158 แห่ง ซึ่งที่เหลืออยากจะเปิด แต่ก็ยังมีผู้ปกครองที่ไม่ยอมรับว่า ลูกเป็นเด็กพิเศษ ดังนั้น ความเป็นเด็กพิเศษมีหลายประเภท มีแทบทุกโรงเรียน เรื่องนี้หากผู้ปกครองยอมรับเข้าโครงการก็จะได้รับการดูแลเฉพาะ