ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. รอรมว.สาธารณสุข ประกาศนโยบายสาธารณสุข เตรียมเสนอยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคด้วย "เทเลเมดิซีน" ทั่วประเทศ  ช่วย รพ.-บริษัทแอปพลิเคชันลงทุนทำระบบ อยู่ระหว่างหารือขยายบริการดูโรคเรื้อรัง คาด 3 ปีช่วยลดผู้ป่วยนอก 50 ล้านครั้งต่อปี ลดภาระงาน ลดแออัด

 

ตามที่ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เคยให้สัมภาษณ์ประเด็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค กรณีบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยใช้ระบบไอทีมารองรับ และเตรียมรูปแบบการเบิกจ่ายให้รพ.ที่เรียกว่า Per Visit โดยตั้งเป้าจะดำเนินการอย่างน้อย 100 วันให้เป็นการนำร่องในบางพื้นที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขก่อนนั้น

(เรื่องเกี่ยวข้อง : ส่อง สปสช. รับนโยบาย 'ยกระดับ 30 บ.รักษาทุกโรค' 100 วันเห็นผล พร้อมวิธีลดภาระงานบุคลากร)

 

เมื่อวันที่ 10 กันยายน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยกระดับบัตรทองตามนโยบายรัฐบาลใหม่ที่จะใช้ระบบเทเลเมดิซีน  ว่า เรื่องของเทเลเมดิซีนจะเป็นหนึ่งในเรื่องของการยกระดับบัตรทองด้วย ซึ่งปัจจุบันเรามีบริษัท 4 แห่งที่เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน และเข้าร่วมกับระบบของ สปสช. ในการให้บริการการแพทย์ทางไกลหรือเทเลเมดิซีนแก่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในโรคทั่วไป 42 กลุ่มอาการ ซึ่งที่ผ่านมามีการนำร่องในพื้นที่ กทม. ก่อนขยายมาที่ปริมณฑลใน 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ  และสมุทรสาคร

ส่วนการจะขยายบริการหรือยกระดับนั้น ขณะนี้ก็กำลังมีการหารือกันอยู่ว่าจะเข้ามาดูในเรื่องของโรคเรื้อรัง เพราะปัจจุบันเรามีผู้ป่วยนอกมารับบริการที่สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประมาณ 200 ล้านครั้งต่อปี จำนวนนี้เป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง อย่างเบาหสวาน ความดัน ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 100 ล้านครั้ง โดยเราเชื่อว่าประมาณ 1 ใน 4 หรือ 50 ล้านครั้งเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่สามารถเข้าใช้เทเลเมดิซีนได้ ดังนั้น ถ้าทำเทเลเมดิซีนให้ดี มีการเจาะเลือดที่บ้านอย่างดี 50 ล้านครั้งไม่ควรมา รพ. แต่ควรออกไปอยู่ข้างนอกเลย ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ รพ.จะว่างเลย หายไป 1 ใน 3 แต่วันนี้ยังเตาะแตะอยู่

เมื่อถามว่าจะต้องหาบริษัทแอปพลิเคชันเทเลเมดิซีนเข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมด้วยหรือไม่  นพ.จเด็จกล่าวว่า อยู่ที่เรากำหนดนโยบาย ถ้าเรากำหนดแล้วเขาเห็นมีทิศทางเขาก็พร้อมลงทุนหมด วันนี้เขาต้องการนโยบายที่ชัดเจน จะเห็นว่าช่วงโรคโควิด 19 คนลงเป็นสิบๆ บริษัทเข้ามาทำ Home Isolation  แต่วันนี้เขาไม่มั่นใจในทิศทาง ถ้าทิศทางนโยบายประกาศชัดเจนอย่างนี้ เทเลเมดิซีนทั้งประเทศ ไปได้ทั่วประเทศ รับยาที่ร้านยาทั้งประเทศ วันนี้จึงไม่ใช่ สปสช.เป็นคนพูด เพราะเราพูดคนอาจจะไม่ค่อยเชื่อ เพราะเราไม่มีพลัง แต่ถ้ารัฐมนตรีพูด รัฐบาลพูดว่าเดินหน้านโยบายเทเลเมดิซีน เราจะได้นำเสนอเลยว่าอีก 3 ปี 50 ล้านครั้งจะไปเทเลเมดิซีนหมด

ถามถึงศักยภาพบริษัทแอปพลิเคชันเทเลเมดิซีนที่ร่วมมืออยู่ สามารถขยายให้บริการไปทั่วประเทศได้แล้วหรือไม่ นพ.จเด็จกล่าวว่า 4 บริษัทที่มีเขาเคลมว่า วันหนึ่งให้บริการได้ประมาณ 1.5 หมื่นราย 300 กว่าวัน ก็ได้หลักไม่กี่แสนรายหรือล้านราย แต่เราต้องการมากกว่านี้ แล้วตัว รพ.เองท่านก็ต้องสวิตช์ตัวเองไปทำเทเลเมดิซีนด้วย เพราะเราก็สนับสนุนท่าน ถ้า รพ.เปลี่ยนไปใช้เทเลเมดิซีน เราเติมให้อีกครั้งละ 50 บาทต่อครั้ง ถ้า รพ.ลงทุนเทเลเมดิซีน คนไข้ไม่ต้องมา ให้บริการได้เพิ่มครั้งละ 50 บาท ส่งยาถึงบ้านได้อีก 50 บาทต่อครั้ง หนึ่งครั้งที่รักษาคนไข้เทเลเมดิซีนส่งยาไปที่บ้าน อยู่เฉยๆ ที่ รพ.ก็ได้เพิ่มอีก 100 บาท ถ้าไปเจาะเลือดที่บ้านเราให้อีก 80 บาทต่อครั้ง

"เราเอาประสบการณ์จากช่วงโควิดมาดำเนินการต่อ วันนี้เวลาเราทำอย่างนี้จะไม่ค่อยมีใครด่า เพราะโควิดก็ทำมาแล้ว เพียงแต่ว่าโมเมนตัมจากตอนโควิดมันยังไม่ไป ถ้าเราไม่กระตุ้น ไม่มีนโยบาย ไม่มีผู้กำหนดนโยบายมาบอกว่าจะดันเรื่องนี้ วันนี้ผมเห็นว่า จริงๆ สำคัญมากคือจะลดความแออัดอย่างไรให้หน่วยบริการ เพราะเรามีคนที่ไม่จำเป็นต้องไป รพ.เกือบครึ่งหนึ่ง ถ้าเราลดลงไปได้ 1 ใน 4 ก่อนได้หรือไม่ ทำให้ รพ.เขาเบาลงไหม" นพ.จเด็จกล่าว

ถามย้ำว่านโยบายเทเลเมดิซีนทั่วประเทศจะกลายเป็นทางออกเรื่องไปหาหมอตอนกลางวันแออัด และการไปหาฉุกเฉินตอนกลางคืน  นพ.จเด็จกล่าวว่า ได้ทั้งคู่ เพราะจะเวลาไหนเทเลเมดิซีนก็ไม่ต้องไป รพ. อย่างที่คนกังวลว่า นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวสามารถรักษาได้ทุกที่ อาจจะเพิ่มภาระงาน เพราะคนแห่กันไป รพ.ใหญ่ๆ นั้น เราจึงพยายามรณรงค์ว่าโรคง่ายๆ ไม่อยากให้ไป รพ. เราพูดเสมอ โรคง่ายๆ ตรวจเองรักษาเองได้ไหม รับยาร้านยาได้ไหม ใช้เทเลเมดิซีนได้ไหม เชื่อมข้อมูลกับเราได้ไหม จะได้ไม่ต้องจ้างคนมาคีย์ข้อมูล นี่คือ 5 มาตรการที่เราเคยเสนอไปว่า ถ้ามีแบบนี้จะลดภาระงานลง ถึงแม้เราอนุญาตคนไข้ไป แต่คนไข้ไม่ไป เพราะรู้ว่าสิ่งที่เราให้มันดีกว่า

"เทเลเมดิซีนมีคนส่งยามาที่บ้าน มีคนมาเจาะแล็บที่บ้าน ทำไมจะไม่เอาอยู่บ้านเฉยๆ ทำไมต้องไปตี 5 ไปจองอยู่ตรงนั้น เพราะแล็บก็เทคนิคการแพทย์เดียวกัน คนเหมือนกัน เทคโนโลยีเดียวกัน แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจว่า แล็บที่ไปเจาะเลือดที่บ้านกับที่ท่านมาเจาะที่ รพ.นั้นเหมือนกัน" นพ.จเด็จกล่าว