ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เปิดประชุมวิชาการ เล็งจัดการเรื่องเอดส์ให้หมดใน 5 ปี พร้อมนำบุคลากรก้าวคำว่าแพทย์และสาธารณสุข ต้องทำงานร่วมหลายภาคส่วน อย่ายึดความรู้ตนมากเกินไป แต่ต้องใช้ประโยชน์ได้

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า มลฑาทิพย์ ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน”พร้อมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักการสาธารณสุขดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร ประจำปี 2565 มอบรางวัลเหรียญเชิดชูเกียรติ “ขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2566 และรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2565 โดยมีผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมงานประมาณ 4,000 คน

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอยินดีกับผู้รับรางวัลทุกท่าน และศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้ได้รับรางวัลเหรียญเชิดชูเกียรติ “ขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2566 ซึ่ง อาจารย์ประพันธ์ ปูชนียบุคคลด้านสาธารณสุข ทำงานวิชาการขับเคลื่อนแก้ไขโรคเอสด์ให้ไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเอชไอวี ตอนนั้นตนเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 4 รามาฯ จำได้ว่า มีผู้ติดเชื้อเอดส์กลุ่มแรกๆ ในไทย ให้ไปเจาะเลือดคนไข้ เข้าห้องผู้ป่วยเอาเลือดไปวางเก็บเพื่อรอการทำลาย จากการผลักดันขับเคลื่อนของอาจารย์ประพันธ์และเครือข่ายทำให้คลี่คลายปัญหานี้อย่างดี เป็นที่ชื่นชมของคนไทยและทั่วโลก อาจารย์จับมือผมอยากให้เรื่องเอดส์จบใน 5 ปี เรียนว่า ลูกศิษย์ลูกหาที่มีทั่วประเทศจะช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ สมเจตนารมณ์ การจัดการเรื่องเอดส์อาจารย์เป็นตัวอย่างของการทำต่อเนื่องมีการพัมนาขับเคลื่อนสู่สังคม 

มหกรรมการจัดการความรู้โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นเรื่องที่สอนพวกเรามหาศาล 3 ปีที่ทั่วโลกรวมถึงไทยรับมือกับสถานการณ์โควิด เป็น 3 ปีที่มนุษยชาติเรียนรู้มากมายรวมถึงไทย  หนึ่งในการเรียนรู้ระบบสาธารณสุขเรามีความเข้มแข็ง มีความเป็นยูนีตี้ แต่มีจุดพัฒนาหลายเรื่อง โดยเฉพาะระบบการจัดการสาธารณสุขในชุมชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ต้องนิยามใหม่ เดิมเรานิยามกลุ่มเปราะบางว่าอยู่ตามชายขอบ ชายแดน แต่จากโควิดทราบดี กลุ่มเปราะบางในระบบการแพทย์ไม่เฉพาะชายแดน แต่ใจกลางเมืองหลวงเมืองใหญาของไทย เช่น กทม. เราเห็นปัญหา อย่างที่มีดรามาส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.ทั้งนั้น เป็นอีกจุดที่ต้องกลับมาทบทวนและตัดการดำเนินการ นอกจากนี้ ช่วงโควิดมีการใช้เทเลเมดิซีน ระบบเทคโนโลยีต่างๆสามารถนำมาต่อยอดบริการได้

" ท่านนพ.ชลน่าน รมว.สาธารณสุข มีนโยบายเรื่องของการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค แน่นอนว่าแม้ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นนโยบายที่ดีช่วยกันเข้าถึงประชาชนมาแล้ว แต่ก็ต้องมีการยกระดับ ซึ่งอาจจะออกมาเป็น30 บาทพลัส ซึ่งชื่อต้องรอการแถลงนโยบายอีกครั้ง" ปลัด สธ.กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ในยุครัฐบาลใหม่โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะมีการยกระดับ 30 บาทฯ ซึ่งต้องมีการพัฒนา  โดยในนโยบายท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  ยังมีการยกระดับการบริการของพี่น้องประชาชน โดยต้องคำนึงถึงภาระงานของบุคลากรทุกระดับ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายของพวกเรา 

 

ประการต่อไปจากโควิดที่ต้องจัดการความรู้คือระบบการแพทย์และสาธารณสุขจะพัฒนาได้ต้องก้าวข้ามคำว่าการแพทย์และสาธารณสุข หากเรามีแค่การแพทย์และสาธารณสุขเราคงจัดการโควิดไม่ได้ เนื่องจากเราจะไม่มีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติไม่มีหน่วยงานอื่นๆทั้งกลาโหม ศึกษา รวมทั้งชุมชนพี่น้องอสม.ที่มาร่วมกันขับเคลื่อนปัญหาสาธารณสุข ซึ่งเป็นจุดที่เราต้องก้าวข้ามให้ได้ เพราะมิติการแพทย์และสาธารณสุขมีมากกว่านั้น

สุดท้ายไม่ว่าจะจากการเรื่องอะไรสิ่งที่เป็นพื้นฐานคือการใช้หลักความรู้หลักความมีเหตุมีผล ซึ่งความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นอย่าไปยึดติดความรู้มากเกินไปนัก ต้องปรับความรู้นำมาใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์หรือบริบทนั้น

"ผมค่อนข้างห่วงบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งทุกท่านเก่งแต่ค่อนข้างยึดความรู้ของท่านมากเกินไป ความรู้ที่สมบูรณ์ที่สุดคือความรู้ที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง" ปลัดสธ.กล่าว