ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกฯ “เศรษฐา” พร้อม “หมอชลน่าน” ลงพื้นที่เชียงใหม่ รับฟังปัญหาประชาชนและติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ด้านกรมอนามัย ร่วมภาคีเครือข่ายพัฒนาเฝ้าระวังสื่อสารความเสี่ยงฝุ่นควันอัตโนมัติ พัฒนาเป็นตำบลต้นแบบในระดับจังหวัดแล้ว 66 ตำบล

 

เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และพญ.นงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่จ.เชียงใหม่พบประชาชน พร้อมทั้งติดตามและรับฟังสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5

 

จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจะสูงขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี  ซึ่งจากการเฝ้าระวังสถานการณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 - ปัจจุบัน พบว่า พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก   ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจากปี 2565 กับปี 2566 พบค่าเฉลี่ย PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 107 และจำนวนวันที่เกินมาตรฐานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60 ส่งผลให้สถานการณ์การเจ็บป่วย     ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศทั้งจากการเฝ้าระวังในระบบบริการสาธารณสุขและจากการเฝ้าระวังเชิงรุกเพิ่มสูงขึ้นในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยพบการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ ฝุ่นPM2.5 ที่มีแนวโน้มสูงในช่วงเวลาดังกล่าว

กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและแก้ไขการเกิดฝุ่นPM2.5 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแนะนำประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และ
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น รวมทั้งจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานบริการสาธารณสุข ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพตนเองผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชัน Air4Thai หรือเว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th ของกรมควบคุมมลพิษ และเฝ้าระวังตนเองด้วยการประเมินอาการจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองที่เว็บไซต์ https://4health.anamai.moph.go.th หรือเว็บไซต์ “4HealthPM2.5” หรือ เว็บไซต์ “คลินิกมลพิษออนไลน์”เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงดังกล่าว

 

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายพัฒนาเฝ้าระวังสื่อสารความเสี่ยงฝุ่นควันอัตโนมัติ “ผ่อดีดี ตำบล” เพื่อบูรณาการและพัฒนาระบบเฝ้าระวังฝุ่นละอองขนาดเล็ก สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อสารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพสำหรับชุมชน และพัฒนาเป็นตำบลต้นแบบในระดับจังหวัด ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2563 ถึง กันยายน 2564 จำนวน 66 ตำบลต้นแบบ พัฒนาศักยภาพทีมปฏิบัติการระดับตำบล ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน แกนนำ ในการตอบโต้สถานการณ์ แก้ไขปัญหาและปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ในพื้นที่โดยมีทีมพี่เลี้ยงสนับสนุนในระดับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังฝุ่นควัน” และสร้างต้นแบบห้องปลอดฝุ่น โดยปัจจุบันมีต้นแบบห้องปลอดฝุ่นในสถานพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก ชุมชน 7,903 แห่ง และในครัวเรือน 2,672 แห่ง

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปีตั้งแต่ตุลาคมคาดการณ์ว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิญโญ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ผันผวน ทำให้มีความแห้งแล้ง และเสี่ยงที่มีไฟป่าทั้งในประเทศและนอกประเทศได้ง่าย ทำให้สถานการณ์ในปีหน้ามีความรุนแรงขึ้น จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์และดูแลสุขภาพตนเอง” รองอธิบดี กล่าว