ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนันบสนุนบริการสุขภาพโชว์แบบก่อสร้างอาคาร รพ.3 มิติกว่า 150 แบบ สามารถปรับฟังก์ชันให้เหมาะสมกับงาน พร้อมปรับปรุงข้อมูลราคาวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ สิ่งสนับสนุนในอาคาร ช่วย รพ.สะดวกของบประมาณก่อสร้างจากสำนักงบฯ ในปีงบ 2568  

นายถาวร ขาวแสง ผอ.กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการทำโชว์รูมแสดงแบบอาคารสถานพยาบาลเสมือนจริงหรือ 3 มิติ (Virtual Health Care Buildings Showroom : VHBS) ด้วยเทคโนโลยีระบบแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (BIM) ว่า รพ.ของรัฐแต่ละแห่ง โดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อจะสร้างอาคารใหม่ ส่วนใหญ่จะใช้แบบอาคาร รพ. ของกองแบบแผน สบส. ซึ่งเรามีมากถึง 150 แบบ ครอบคลุมตั้งแต่ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน เราจึงพัฒนาปรับปรุงแบบอาคาร รพ.เป็นรูปแบบของ 3 มิติ แล้วจัดทำเป็นโชว์รูมแสดง โดย รพ.ที่อยากจะสร้างอาคารใหม่ สามารถมาที่โชว์รูม สวมแว่น VR แล้วชมแบบอาคารได้ทันที ดูได้ทุกส่วนของอาคาร เพื่อพิจารณาว่าอาคารแบบไหนที่ตอบโจทย์หรือสอดรับกับภารกิจของอาคารที่กำลังจะสร้างใหม่

อีกทั้งเราได้ปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ สิ่งสนับสนุนต่างๆ ของแบบอาคารต่างๆ ด้วย ทำให้ทราบว่าต้องใช้วัสดุอะไร เทคโนโลยีอะไร งบประมาณเท่าไร ทำให้เกิดความสะดวกในการของบประมาณจากสำนักงบประมาณเป็นงบลงทุนในการก่อสร้างตึก 

 

"ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณจะอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างตามแต่ละเลขที่แบบอยู่แล้ว ซึ่งการของบประมาณก่อสร้างในปี 2567 นั้นเรียบร้อยไปทั้งหมดแล้ว แต่เป็นการทำงบประมาณเฉพาะตัวอาคาร ดังนั้น เพื่อรองรับในปีงบประมาณ 2568 จึงได้ปรับแบบก่อสร้างอาคาร รพ. เป็น 3 มิติ ที่มีรายละเอียดของงบประมาณวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ สิ่งสนับสนุนเข้าไปด้วย ทำให้ รพ.เกิดความสะดวกในการของบประมาณก่อสร้างในแต่ละปี" นายถาวรกล่าว 

นายถาวรกล่าวว่า หาก รพ.มาพิจารณาเลือกแบบก่อสร้างอาคาร รพ.แล้ว เกิดมีฟังก์ชันบางส่วนที่ไม่สอดรับกับภารกิจของ รพ.ที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนห้องหรือปรับเปลี่ยนแบบ ก็สามารถปรับโยกฟังก์ชันจากแบบอื่นมาปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมได้ เช่น เลือกแบบอาคารหมายเลข 3 ไว้ แต่มีบางส่วนไม่เหมาะกับงานที่ รพ.จะทำ ก็อาจเลือกฟังก์ชันของแบบหมายเลข 5 ที่เหมาะสมกับงานของ รพ.มาปรับได้ เป็นต้น เมื่อได้แบบที่ต้องการก็สามารถดาวน์โหลดไปพิมพ์เองได้ นอกจากนี้ เรายังออกแบบหรือดีไซน์แบบอาคารให้ด้วย ซึ่งมีเช่นนี้ทุกปี เนื่องจากบาง รพ.มาคัดเลือกแบบทั้งหมดแล้วไม่ตรงกับความต้องการ หรืออีกส่วนคือพื้นที่ที่ รพ.มี ไม่สอดคล้องตรงกันแบบ อย่างกว้างxยาวไม่ได้จริงๆ ฟังก์ชันได้ แต่พื้นที่ไม่ได้ ก็จะมีการดีไซน์บีบให้เล็กลง สูงขึ้น เป็นต้น 

"ที่ผ่านมาเราไม่เคยคิดค่าบริการ แต่พอมาปีนี้ สธ.เพิ่งประมาศเป็นหน่วยบริการเก็บเงินบำรุงได้ ก็อาจจะมีการคิดค่าออกแบบ ซึ่งราคาจะถูกกว่าเอกชน ก็จะเป็นเงินบำรุงเข้ากรมเพื่อพัฒนาองค์กร ซึ่งหาก รพ.เอกชนสนใจ เราก็ยินดีให้บริการเช่นกัน เนื่องจากเราตรวจ รพ.เอกชนอยู่แล้วเรื่องแบบมาตรฐานในการขอเปิดขอรับอนุญาต จะมีทีมสถาปนิก วิศวกรก็จะไปดูให้ โดยแบบอาคาร รพ.ที่ดีไซน์ขึ้นใหม่ก็จะทำในรูปแบบ 3 มิติเพื่อให้ ผู้ใช้บริการสามารถดูในอาคารได้ก่อน" นายถาวรกล่าว