ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จิตแพทย์ชี้ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว   ส่วนใหญ่ไม่ป่วยแต่มีปัญหาสุขภาพจิต ขอสังคมอย่าเพิกเฉยจนกลายเป็นระบบปิดของครอบครัว  หากเข้าไปแทรกแซงตั้งแต่แรกอาจไม่เกิดเหตุสลดใจ แนะสื่อมวลชนอย่านำเสนอข่าวเชิงดรามา ควรสื่อสารเชิงป้องกันแก้ไขปัญหา นำไปสู่สังคมการเรียนรู้ ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำๆ

 

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ตรวจสอบบ้านพักในจ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นจุดที่พ่ออายุ 46 ปี และแม่อายุ 40 ปี รับสารภาพว่าก่อเหตุฆาตกรรมลูกสาววัย 2 ขวบที่กรุงเทพมหานคร แล้วนำศพมาฝังโบกปูนอำพรางคดี จนตำรวจมีการขยายผลและคาดว่าจะมีเด็กอีก 4 คนถูกฆาตกรรม ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงพ่อฆ่าลูกแท้ๆ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต  โพสต์เฟซบุ๊กกรณีความรุนแรงในครอบครัวว่า ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว  ทั้งนี้ จากกรณีข่าวที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวกระทั่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ซึ่งจริง ๆ แล้วโดยหลักทางด้านจิตวิทยา สายสุขภาพจิตการที่เกิดความรุนแรงในครอบครัวต่อเนื่องยาวนาน มีการกระทำดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีข้อสังเกตจากผู้กระทำที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ป่วยมีเพียงปัญหาสุขภาพจิตเท่านั้น เช่น ภาวะเครียด หรือมีประวัติวัยเด็กถูกใช้ความรุนแรงมาก่อน ส่วนน้อยที่มีอาการป่วยทางจิต แต่มักมีการติดสารเสพติดที่มักมีความรุนแรงร่วมด้วยจากอาการอยากยา ซึ่งการเสพยาปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ สำหรับผู้ที่มีโรคจิตเภทร่วมด้วยเป็นส่วนน้อยที่จะกระทำความรุนแรง

ปัจจัยสำคัญคือ ครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงเป็นระบบปิด สังเกตว่าครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงมักไม่สุงสิงกับใคร การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น สามารถทำได้โดยทำให้ครอบครัวเป็นระบบเปิดออกมา ที่สามารถแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของคนที่แวดล้อมโดยเฉพาะเพื่อนบ้าน น้อยคนนักที่จะรู้ว่าประเทศไทยเรามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยเจตจำจงของ พ.ร.บ. ดังกล่าวช่วยให้ครอบครัวมีทางออกโดยที่สังคมต้องมีส่วนร่วมอันนี้สำคัญมาก ในหลายกรณีที่คนในครอบครัวถูกทำร้ายผลจากการเข้าไปสอบถามมักพบว่าเพื่อนบ้านได้พบเหตุการณ์ทำร้ายร่างการเป็นประจำ แต่สังคมกลับเพิกเฉยจนกลายเป็นระบบปิดของครอบครัว ทั้งที่จริงหากเราเข้าไปแทรกแซงตั้งแต่แรก ก็จะไม่เกิดเหตุสลดดังข่าวที่นำเสนอ

 

“ท้ายสุดสื่อมวลชนไม่ควรสำเสนอข่าวดังกล่าว หรือสัมภาษณ์ในลักษณะdrama เช่น ทำไมถึงฆ่า รู้สึกผิดไหม ป่วยหรือเปล่า แต่สี่อมวลชน ควรนำเสนอเพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่สังคมที่เกิดการเรียนรู้และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อไป” นพ.ยงยุทธ กล่าว