ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 11 บูรณาการภาคีเครือข่าย ร่วมฝึกซ้อมแผนลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ ในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า รองรับสาธารณภัยอย่างเป็นระบบ สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่

วันที่ 23 ก.ย. 2566 นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เปิดเผยว่า กลุ่มจังหวัดภาคใต้ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลให้มีคุณภาพระดับนานาชาติ พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ดูแลความปลอดภัยและ สุขภาพอนามัยของนักท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างจุดแข็งและเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อแข่งขันในเวทีโลก เขตสุขภาพที่ 11 จึงได้กำหนดแผนปฏิบัติการสร้างความปลอดภัยและการจัดการเมื่อเกิดภัยในพื้นที่ทางทะเล โดยบูรณาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางบก น้ำ อากาศ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เตรียมความพร้อมรองรับสาธารณภัยอย่างเป็นระบบ ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาที่รวดเร็วที่มีประสิทธิภาพและไร้รอยต่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ช่วยเสริมศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กับกลุ่มจังหวัดอันดามัน-อ่าวไทย ด้วย

นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้จัดการซ้อมแผนสถานการณ์สมมติลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน พื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า เมื่อวันที่ 3-5 กันยายนที่ผ่านมารวมระยะเวลา 3 วัน 3 รูปแบบ โดยวันแรก เป็นการฝึกซ้อมแผนบูรณาการการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน (บก น้ำ อากาศ) แบบ Tabletop Exercise วันที่สอง เป็นการฝึกแบบสถานการณ์จำลองกึ่งเสมือนจริง และวันสุดท้าย เป็นการฝึกซ้อมแบบสถานการณ์จำลอง โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการฝึกซ้อมกว่า 20 หน่วยงาน มีผู้เข้าร่วมการซ้อมประมาณ 400 คน

พื้นที่การฝึก ได้แก่ สนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว ท่าเทียบเรือเกาะเต่า สนามเฮลิคอปเตอร์ สถานีเรือเกาะสมุย สนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว อำเภอเกาะพะงัน มณฑลทหารบกที่ 45 (มทบ.45) ค่ายวชิราวุธ และอากาศยาน Lakota 72 (ฮ.ท.72) ส่วนการซ้อมแผนสถานการณ์สมมติลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินพื้นที่เกาะเต่า ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 (ศรชล.ภาค2) กองทัพภาคที่ 4 คณะผู้วิจัย นำทีมโดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เวชวิวัฒน์ และภาคีเครือข่ายตำบลเกาะเต่า เป็นต้น โดยหลังเสร็จสิ้นการซ้อมแผนฯ ได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นกับตัวแทนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทบทวนการปฏิบัติงาน นำข้อเสนอแนะไปพัฒนางานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง